วันนี้ (22 ก.ค.2559) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้ประชาชน วันที่ 22 กรกฎาคมนี้ว่า เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ปีนี้ ทรงมีพระชนมายุ64 พรรษา ขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าร่วมกันถวายพระพรชัยมงคล ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ และขอให้ร่วมกันแสดงพลังแห่งความจงรักภักดี แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ทุกพระองค์ ด้วยการ “ทำความดี” ทำได้ทุกวัน ในห้วงเข้าพรรษาและตลอดปีมหามงคลนี้ ด้วยการคิดดี พูดดี ทำดี เริ่มได้ที่ “ใจ และ จิตสำนึก”
ทั้งนี้ ขออวยพรให้ทีมนักกีฬาไทยที่จะเดินทางไปแข่งขันโอลิมปิคเกมครั้งที่ 31 ณ ประเทศบราซิล ให้ประสบความสำเร็จและปลอดภัยทุกคน ขอแสดงความยินดีกับทีมหุ่นยนต์ iRAP ROBOTและ iSMILE ของคณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก หรือ World RoboCup Rescue 2016 ณ เมืองไลพ์ซิกประเทศเยอรมนี ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย เป็นแชมป์โลกสมัยที่ 8 โดยได้รับรางวัลนวัตกรรมสมรรถนะการขับเคลื่อนหุ่นยนต์ยอดเยี่ยมที่สุดในบรรดา 24 ทีม จาก 12 ประเทศทั่วโลก ผมเห็นว่าเยาวชนเหล่านี้ เป็นความหวังของประเทศในอนาคต ทราบว่าหลายคนได้รับแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ๆ ที่เรียนอาชีวศึกษา และประสบความสำเร็จมาก่อน ขอขอบคุณและยินดีกับสถาบันและคณะอาจารย์ด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตามข่าวในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับนายคริสโตเฟอร์ เบญจกุล กับร้านเบเกอรี่ 60 plus bakery by Yamazaki & APCD นั้น มีเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจ คือร้านนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อให้ประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้อย่างมีความสุขในสังคม โดยรัฐบาลได้สนับสนุนการดำเนินงานตามแนวทางประชารัฐ แทนที่จะส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมสำหรับคนพิการ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสการทำงานของคนพิการให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
ตามตัวอย่างคือร้านเบเกอรี่นี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มูลนิธิศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก(APCD) ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และบริษัทไทยยามาซากิ จำกัดพนักงานของร้านมากกว่า 80% เป็นคนพิการทางด้านร่างกาย “ออทิสติก” และคนพิการทางการได้ยิน ได้ทำงานเป็นทั้งฝ่ายผลิตและฝ่ายขาย โดยทำงานที่ตนถนัดและสมัครใจ และสามารถร่วมงานกันได้อย่างไม่มีปัญหา ดูเขามีความสุขกันดีด้วยซ้ำไป
สำหรับนายคริสโตเฟอร์ฯ ทำหน้าที่ผู้จัดการร้านฯเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ทำความดีช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์นานมาแล้ว จนกระทั่งตัวเองต้องประสบอุบัติเหตุ เป็นเหตุให้ต้องนั่งรถเข็นอยู่ 3 ปี แต่เมื่อได้รับการฟื้นฟูร่างกายจนหายเป็นปรกติแล้ว ก็ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ได้มีความตั้งใจประกอบอาชีพที่มีรายได้ที่สุจริต และทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป ขอชื่นชมการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีของนายคริสโตเฟอร์ฯ ด้วย
ประเทศไทยมีคนพิการประมาณ 1.6 ล้านคน โดย 7 แสนกว่าคน หรือเกือบร้อยละ 50 จบการศึกษาระดับประถมศึกษาและอยู่ในวัยทำงาน และก็มีเพียง 2 แสนกว่าคนเท่านั้นที่ประกอบอาชีพ มีรายได้ ส่วนอีก 4 แสนกว่าคน ไม่ได้ประกอบอาชีพ ดังนั้น ผมขอเชิญชวนภาคธุรกิจเอกชนและทุกภาคส่วนช่วยกันส่งเสริมและเปิดโอกาสให้คนพิการได้เข้าทำงานมากขึ้น ปัจจุบัน มีการจ้างงานคนพิการตามกฎหมายในอัตราส่วน 1 ต่อ 100 คนแล้ว คิดเป็น 96.7% ซึ่งถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่ดีขึ้น และมีการใช้มาตรการทางภาษี ช่วยเหลือกับสถานผู้ประกอบการที่สามารถจ้างคนพิการด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลนี้มุ่งมั่นตั้งใจให้คนพิการทุกประเภทได้ออกสู่สังคม สามารถแสดงศักยภาพ มีความสามารถในการทำงานเพื่อให้สังคมได้รับรู้ ยอมรับ และเข้าใจ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ โดยได้กำหนดให้ “ผู้แสดงความสามารถ” ไม่เป็นผู้มีความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากมีคนพิการจำนวนหนึ่งที่มีขีดความสามารถในการแสดง ร้องเพลง เล่นดนตรีเหล่านี้ นอกจากนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดให้มีโครงการสนับสนุนให้บุคคลเหล่านั้นได้เป็นนักร้องอาชีพ ผมก็อยากให้สังคมได้เปลี่ยนมุมมองต่อคนพิการว่า เขาไม่เป็นเพียง “ผู้รับ” เท่านั้นนะครับ เขาเหล่านั้น สามารถเป็น “ผู้ให้” ได้ด้วย ซึ่งก็จะสร้างความสุขให้กับทุกคนได้เช่นกัน เช่นการมอบเสียงเพลง เป็นต้น หลายคนอาจจะทำงานที่สถานประกอบการก็ได้ หรือทำงานที่บ้านก็ได้โดยใช้ระบบไอทีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเดินทางเข้าร่วมการประชุมเอเชีย - ยุโรป (Asia - Europe Meeting : ASEM) ครั้งที่ 11 ณ กรุงอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย ทั้งนี้ จากการประชุมฯ คณะผู้นำประเทศได้สรุปผลการหารือกัน เป็น “แถลงการณ์” เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิก ASEM ในการที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเอเชีย-ยุโรปในด้านต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อโลก ต่อมวลมนุษยชาติ อาทิเช่น การพัฒนาอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมความเชื่อมโยง การรักษาความมั่นคงทางทะเลซึ่งมีความผูกมัด และเชื่อมโยง
โดยทุกประเทศสมาชิกนั้นจะต้องเข้าสู่จุดมุ่งหมายอันเดียวกันตาม “วิสัยทัศน์ในทศวรรษที่ 3” ประกอบด้วย (1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ความเป็นหุ้นส่วน (2) การส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม (3) การส่งเสริมความเชื่อมโยง และ (4) การปรับปรุงกระบวนการทำงานของ ASEM ภายใต้บริบทของ “โลกไร้พรมแดน” ด้วยเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมในปัจจุบัน ที่จะทำให้เอเชียและยุโรปมีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ทุกปัญหาปัจจุบันนั้นมีผลกระทบในมิติข้ามชาติมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นทุกประเทศต้องร่วมมือกัน ในลักษณะ“หนึ่งโลก หนึ่งจุดหมาย” คือความสงบสันติและมีการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน เราจะต้องดึง “จุดแข็ง” ของกันและกัน เอามาเติมให้เต็ม เพื่อสร้างความเจริญร่วมกัน อย่างยั่งยืน เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เช่น เอเชียมีจุดแข็ง ก็คือเศรษฐกิจและตลาดที่มีขนาดใหญ่ มีทรัพยากร ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ขณะที่ยุโรปมีจุดแข็ง คือความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนวัตกรรม และความเข้มแข็งของระบบสวัสดิการสังคม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้เสนอ “การเชื่อมโยงASEM”ไว้ 4 ประการ ได้แก่ (1) การเชื่อมโยงเพื่อร่วมกันรับมือกับความท้าทายต่างๆ และภัยพิบัติ เน้นการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยี งานวิจัย องค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรมที่สนับสนุนการเพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่า และส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (2) คือการเชื่อมโยงประชาชนสู่ประชาชน ด้วยการไปมาหาสู่กัน ในทุกระดับนะครับ มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว เพื่อเกิดความใกล้ชิดเข้าอกเข้าใจกันอันจะนำมาสู่ความมั่นคงของมนุษย์ ในอนาคต นะครับ
(3) คือการเชื่อมโยงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จะต้องสอดคล้องกับวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2030 ของสหประชาชาติ ซึ่งจะตองเน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ควบคู่กับการพัฒนา และไทยเองในฐานะประธานกลุ่มจี 77 ในวาระปี ค.ศ. 2016 นั้นได้นำเสนอหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ให้เป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนา เพื่อให้เอเชียและยุโรปร่วมมือกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไตรภาคี อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป และ (4) การเชื่อมโยงเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ โดยรื้อฟื้นการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสและรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของASEM เพื่อหารือความเป็นไปได้ของ “เขตการค้าเสรีเอเชีย-ยุโรป” อันจะนำไปสู่การค้า การลงทุน และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่พึ่งพากัน ส่งเสริมกันได้ในอนาคต
นอกจากนั้น ได้เสนอหลักการ “3 M” อันได้แก่ (1) ความไว้เนื้อเชื่อใจร่วมกัน (Mutual Trust) ลดความหวาดระแวง (2) ความเคารพซึ่งกันและกัน (Mutual Respect) เพราะทุกประเทศล้วนมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน และ (3) มีผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Benefit) และต่างตอบแทน มุ่งหวังว่าหลักการ “3M” จะเป็นแนวทางการทำงานร่วมกันของ ASEM โดยทุกประเทศจะต้องเคารพกฎกติการะหว่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความท้าทายที่สำคัญ 2 ประการที่ทั้งเอเชียและยุโรปกำลังเผชิญอยู่ และอาจจะมีผลกระทบเชื่อมโยงทั้งในมิติความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม ได้แก่ (1) ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปรกติโดยเฉพาะที่มีต้นเหตุมาจากสถานการณ์ ความไม่สงบในประเทศหรือในแต่ละภูมิภาค ประเทศไทยได้ริเริ่มจัดให้มีการประชุมในเรื่องว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปรกติในมหาสมุทรอินเดีย จำนวน 2 ครั้ง เพื่อให้ทุกฝ่าย ทุกองค์กร ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง – กลางทาง – ปลายทาง อันทำให้เกิดการส่งผลกับตัวเลขสถิติ การโยกย้ายถิ่นฐานในมหาสมุทรอินเดียลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
(2) ปัญหาการค้ามนุษย์ที่มีความเชื่อมโยงกับปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐาน และความเหลื่อมล้ำจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในภูมิภาคที่ไม่สมดุลอยู่ รัฐบาลไทยได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์นั้นเป็น “วาระแห่งชาติ” ด้วยกลไกประชารัฐ และน้อมนำแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการขจัดปัญหานี้ให้หมดไปจากประเทศไทย โดยกำหนดเป็นนโยบาย มาตรการ และกฎหมาย เพื่อคุ้มครองและป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ทั้งเด็ก สตรี และแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU) ซึ่งจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ขอความร่วมมือด้วยทุกหน่วยงานกับทุกผู้ประกอบการ และประชาชนด้วย
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขขจัดปัญหาการค้ามนุษย์นั้น จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้นั้น จะต้องประกอบกันทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคแล้ว ทั้งนี้ ประเทศไทยก็พร้อมที่จะร่วมมือกับทุกๆ ประเทศใน ASEM และในทุกกรอบความร่วมมือ เราจะไม่ผลักภาระให้ประเทศใดประเทศหนึ่งให้ต้องแก้ไขปัญหาเพียงลำพัง สิ่งสำคัญ คือต้องแก้ปัญหาจากต้นเหตุ ด้วยการพัฒนาด้านการศึกษา มีการยกระดับคุณภาพชีวิตลดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิตด้านรายได้ พร้อมๆ กันไปด้วย ขจัดความอยุติธรรม บนพื้นฐานด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งต้องคำนึงถึงระดับความพร้อมของแต่ละประเทศในการแก้ไขปัญหาด้วย ต้องเสริมซึ่งกันและกัน ถ้าเราสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ ด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับแต่ละประเทศมันก็จะเกิดผลเป็นรูปธรรม และสามารถเริ่มได้ทันที
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันนั้น มีหลายเรื่องที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ในการที่จะวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศในอนาคต ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามข่าวสาร ทำความเข้าใจ เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ดี อาทิเช่น (1) การจัดระเบียบการถือครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ผ่านมานั้นได้มีการแจกจ่ายไปยังพี่น้องเกษตรกรผู้ยากไร้ ด้วยเจตนาดี แต่ด้วยผลการปฏิบัติที่อาจจะมีสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่บ้างนะ อันประกอบไปด้วยการทุจริตของเจ้าหน้าที่บางราย หรือด้วยเหตุใดก็ตาม ทำให้เกิดมีการขายสิทธิ์ต่อ แล้วเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก แล้วก็ใช้ประโยชน์ ที่ไม่ตรงตามต้องการตามวัตถุประสงค์ ก็จำเป็นต้องเข้ามาบริหารจัดการใหม่ ให้ถูกต้อง
โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้ดำรงตำแหน่งปฏิรูปที่ดินจังหวัด นิติกร นายช่างสำรวจ นายช่างโยธา วิศวกรสำรวจ วิศวกรโยธา ในพื้นที่เป้าหมาย ได้เข้ามาดำเนินการร่วมกัน ก่อนที่จะจัดรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ ให้มีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ปัญหาจะได้ไม่ย้อนกลับมาอีกเหมือนเดิม ไม่ได้แล้ว
(2) การลงทะเบียนในระบบ “พร้อมเพย์” เป็นทางเลือกให้ประชาชนใช้บริการโอนเงิน ไม่ได้บังคับใคร เพียงแต่อยากให้มีความสะดวกขึ้นแล้วก็เสียค่าบริการถูกลง ส่วนใหญ่ก็เป็นเงินที่ไม่มากนักอยู่แล้ว ภาครัฐก็จะใช้เป็นช่องทางที่จะหาทางคืนเงินภาษีบ้าง จ่ายเงินสวัสดิการต่างๆ บ้าง ซึ่งเราก็ใช้กับส่วนใหญ่ก็มุ่งหวังให้กับคนที่มีรายได้น้อย จะรวดเร็วกว่าเดิม และเชื่อถือได้ มีช่องทางรับโอนเงินแบบเดิม ซึ่งมีอยู่แล้วยังใช้การได้ตามปกติ ก็แล้วแต่จะเลือก อะไรก็แล้วแต่ ทั้งนี้ อย่าไปเป็นห่วงว่าข้อมูลส่วนบุคคลของพี่น้องประชาชนนั้นจะรั่วไหลอะไรต่างๆ หมายเลข 13 ตัวก็มีแค่ตัวตนเท่านั้นเอง จะได้รับการคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน และก็จะได้รับการตรวจสอบความถูกต้องโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อาจเป็นสิ่งใหม่สำหรับบางคน เหมือนบัตร ATM ที่ช่วงแรกที่ถูกนำมาใช้ แล้วก็ยังไม่มีความไม่เข้าใจ หวาดระแวง ปัจจุบันแทบทุกคนก็มีบัตร ATM มีคนละหลายใบด้วย ก็ใช้เป็นเรื่องปกติ การเปลี่ยนแปลงที่จะพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ผมก็อยากให้พี่น้องประชาชนได้เปิดใจ ทำความเข้าใจ อย่าไปหลงเชื่อคำบิดเบือน อย่างไรก็ตามเป็นทางเลือกเท่านั้น เป็นไปตามความสมัครใจ ใครใช้ก็ได้ ไม่ใช้ก็ได้ แต่ก็เรียนให้ทราบว่าปัจจุบันมีผู้ที่มาลงทะเบียนขอใช้บริการแล้ว กว่า 9 ล้าน 7 แสนราย ทั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Digital Economy นะครับของประเทศ
และ (3) การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย สำหรับผู้ว่างงานหรือผู้มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี สัญชาติไทย และอายุ 18 ปีขึ้นไป ในช่วง 15 กรกฎาคม ถึง 15 สิงหาคม 1 เดือน เท่านั้น ณ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ ข้อมูลดังกล่าวนั้นจะเชื่อมโยงไปยังฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทย เพื่อประมวลผลข้อมูลผู้มีรายได้น้อย จริงๆ มีการประเมินอยู่แล้ว ถ้าสามารถจะแยกได้โดยเจ้าของเอง ก็จะชัดเจนขึ้น จะได้มีการตรวจสอบกับข้อมูลอื่นๆ ได้ด้วย เพื่อจะได้สามารถนำไปใช้ในการจัดสวัสดิการสังคมได้ในอนาคต ของเดิมอย่าห่วง ไม่มีการตัดอะไรทั้งสิ้น อย่างน้อยก็เท่าเดิมอยู่ในระยะแรก ต่อก็จะพัฒนาให้มากขึ้นเมื่อมีรายได้ของประเทศมากขึ้น
โดยโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐนี้เป็นหนึ่งในการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเรื่องระบบการชำระเงินแบบ อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ เพื่อให้การออกแบบสวัสดิการ มีความเหมาะสม สมเหตุสมผล ไม่ให้มีการใช้งบประมาณแบบ “เหวี่ยงแห” ลงไป หรือประชานิยมในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จนบางครั้งไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ตรงความต้องการที่แท้จริง ทุกพวกก็กลับสู่ที่เดิมหมด ที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นอย่างนั้นอยู่ ต้องเปลี่ยนแปลง จะทำให้เราประหยัดงบประมาณลงได้มาก เพื่อจะใช้ได้ถูกต้อง ทำให้ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน หรือใช้เงินภาษีประชาชน อย่างไม่มีประสิทธิภาพ
อย่าไปเชื่อว่าจะเอามาใช้ประโยชน์เพื่อเก็บภาษี เมื่อตัวเลขของการประเมินภาษีหรือรายได้ที่ได้รับ ก็แจ้งเพื่อตัวเองอยู่แล้ว รายได้ไม่ถึงก็ไม่เสียภาษีอยู่แล้ว รัฐบาลจะไปเก็บภาษีจากคนไม่มีรายได้เพียงพอเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว อย่าไปเชื่อเขา มีแต่ว่าถ้ารัฐบาลมีสตางค์มากขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะหาเงินให้ใส่ในบัญชีให้ ในขณะที่หลายประเทศเขาก็ทำแบบนี้ เพื่อจะส่งเสริมความเข้มแข็งเป็นรายครอบครัว รายครัวเรือน เพื่อให้สามารถที่จะยกระดับรายได้เขาให้มากขึ้น เพื่อจะไปสู่ฐานภาษีในอนาคต คือมีรายได้เพียงพอ แล้วก็สูงกว่าเกณฑ์ที่ยกเว้นภาษี ไม่ดีใจหรือครับ ไม่น่าจะดีหรือถ้าเราพ้นจากสถานะเหล่านั้นได้ เราต้องช่วยตัวเอง รัฐบาลก็จะช่วยในสิ่งที่ถูกต้องนะครับ สิ่งที่เราทำได้ ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ หรือโฆษณาชวนเชื่อนะ เพราะฉะนั้นทุกคนต้องเรียนรู้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง กับประเทศชาติ คือคำว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กล่าวมาหลายครั้งแล้ว ก็ยังมีการบิดเบือนอยู่ ผมขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง หลายประเทศนั้นก็มีการทำยุทธศาสตร์ชาติ รอบบ้านเราก็มีทุกประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศ โดยมีทิศทางที่ชัดเจน ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อนเลย ผมก็ไม่ทราบเพราะเหตุใด วันนี้เรามี “วิสัยทัศน์” ของประเทศเป็นหลักชัย แต่จะทำอย่างไรที่จะบรรลุสู่เป้าหมาย คือ “ความมั่นคง ความมั่งคั่ง และอย่างยั่งยืน” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีหลักการอยู่แล้ว ทางวิชาการก็มีอยู่ จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ชาติ เพื่อจะใช้ในการขับเคลื่อนและปฏิรูปประเทศ
ทำอย่างไรให้ประเทศไทย ในอีก 20 ปีข้างหน้านั้นจะเกิดความเป็นธรรมในสังคม และลดความเหลื่อมล้ำได้ทุกมิติ มีระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีเศรษฐกิจดิจิทัล ทรัพยากรและสิ่งแวด ล้อมได้รับการดูแล การพัฒนาทั้งในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ มีความเข้มแข็งแล้วก็ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น เพียงพอ มีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนดีขึ้น
ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ในเวทีระดับโลก โดยจะต้องมีการการบริหารจัดการภาครัฐ ที่เป็นระบบ แบบบูรณาการแล้วก็การให้บริหารภาครัฐที่มีธรรมาภิบาล เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รองรับการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อจะรองรับการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน แล้วก็ให้มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีศัยกภาพ คนไทยนั้นจะต้องรักการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองตลอดชีวิต มีจิตสำนึกในความเป็นไทย โดยยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น จะเป็นเพียงกรอบแนวทางกว้างๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ในอนาคตซึ่งจะ ประกอบไปด้วยยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ยุทธศาสตร์ คือสิ่งที่เขียนไว้กว้างๆ แต่จะทำหรือไม่ทำ เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร
(1) ก็ได้แก่ด้านความมั่นคง (2) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน (3) ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม (4) การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (5) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ และ (6) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในทุกด้านที่กล่าวมาแล้วนั้น อย่างไรก็ตามต้องอาศัยปัจจัยสู่ความสำเร็จ 3 ประการ คือ (1) ต้องมีการวางระบบและกฎหมายรองรับ (2) ต้องสร้างกลไกสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกัน และ (3) ต้องได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนในสังคม ร่วมมือกัน เพราะประเทศชาติเป็นของเราทุกคน ทั้งเกือบ 70 ล้านคนในปัจจุบัน
โดยสรุปแล้วยุทธศาสตร์ชาตินี่ไม่ได้ไปบังคับใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ขอให้ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างจริงจังให้เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ทำทุก 5 ปี อยู่แล้ว คราวนี้กำลังจะก้าวเข้าไปสู่ปี 60 นี่ ในส่วนของแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ แผนที่ 12 ของสภาพัฒน์ฯ แล้วก็แผนการปฏิรูปที่ทาง สปท. ได้ทำไว้ล่วงหน้า ทั้ง 2 คณะที่ผ่านมานั้นแหละ ก็จะเดินหน้าไปตามนี้นะ แต่จะทำหรือไม่ทำ ทุกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็พิจารณาว่าจะทำหรือไม่ทำ
ประชาชนก็ต้องดู ศึกษาดูว่าทำแล้วดีหรือไม่ดี ไม่ได้ทำแล้วไม่ดียังไง ไปว่าเอาเอง รัฐบาลนี้พยายามจะทำเป็นแนวทางระยะแรกไว้ ในช่วงปฏิรูประยะที่ 1 นี้เท่านั้นเอง อันนี้ก็ฝากไว้ด้วยอย่าให้ใครมาบิดเบือนว่าผมจะไปยึดอำนาจ ครองอำนาจไว้ อะไรยาวนาน ไม่ใช่ เป็นอำนาจของประชาชนให้ประชาชนมีอำนาจอย่างแท้จริงในการที่จะกำกับดูแลการทำงานของฝ่ายบริหารบ้าง ไม่ใช่ อะไรที่ผ่านมาก็มีปัญหามาตลอดนะ
ผมขอยืนยันว่าทุกความเข้าใจ ทุกความร่วมมือของพี่น้องประชาชน หากฟังผมดีๆ แล้วจะไม่สูญเปล่า จะเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนผ่าน การเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ดีกว่าที่ผ่านมานั้น รัฐบาลและ คสช.พยายามทำหน้าที่ ให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจ มาเกือบ 2 ปีมาแล้วที่กำลังเข้ามาดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ก็ขอขอบคุณทุกคน ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องและให้ความร่วมมือ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในช่วงวันหยุดที่ผ่านมานั้น ได้ติดตามข่าวสาร แล้วก็จากภาพทางโทรทัศน์บ้าง อะไรบ้างเหล่านี้นะ ตามสื่อ ก็เห็นภาพของประเทศของเรา เต็มไปด้วยความสงบสุข อาจจะมีบางกลุ่มบางคนอยู่บ้างนะ ซึ่งไม่ยอมยุติอะไรทุกอย่างแม้กระทั่งวาระในการทำบุญนี่นะ แสดงว่าไม่สนใจอะไรเลย แต่สิ่งที่ผมชื่นชมก็คือว่า คนไทยเกือบ 100% นะ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ น้อยมากที่ไม่เข้าใจ
ผมเห็นภาพการร่วมกันทำบุญ ทำกิจกรรมทางศาสนา ใช้จ่ายในเรื่องของการทำบุญทำกุศลนั้นมากขึ้น แต่ละกิจกรรมมีการเพิ่มขึ้นถึง 20 – 30% เงินก็มาหมุนเวียน ทำให้เศรษฐกิจระดับล่างได้มีการขยับบ้าง ทำให้รู้สึกดีที่คนไทย เมืองไทย พยายามที่จะกลับมามีแต่ความสันติเหมือนเมื่อก่อนนะครับ มีการทำบุญทำกุศล ท่องเที่ยวไปมาหาสู่ซึ่งกันและกัน ไม่ทะเลาะแตกแยกกัน ความจริงแล้วนั้นผมคิดว่าคนไทยนั้นไม่ได้มีความแตกแยกกันในจิตใจเลย แต่อาจจะมีความแตกต่างกันทาง “ความคิด” อยู่บ้าง
แต่ขณะเดียวกันก็มีคนไม่กี่คน ไม่กี่พวกนะที่ “ยัดเยียด” เอามาให้ เอาสิ่งที่บิดเบือนบ้าง อะไรบ้างนะ เพื่อจะหวังประโยชน์ ด้วยการยัดเยียดเข้ามา ยัดเยียดความคิดเหล่านั้นเข้ามา ทำให้คนนี่แตกแยกเป็นพวก เป็นฝ่ายหมด ผมมองอย่างอื่นไม่ได้ เขาก็หวังเพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตน และพวกพ้อง อาจจะไม่ได้คำนึงถึงประเทศชาติ หรือส่วนรวม หรืออนาคตของประเทศ และลูกหลานอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่เขาดีอยู่แล้วล่ะ มีไม่ดี ไม่เท่าไรหรอก ก็อย่าให้คนไม่กี่คนทำให้ประเทศชาติไม่สงบ
นายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอให้ทุกคนมี “สติ” ร่วมกัน “ทำเพื่อชาติ” ลำพังผมเอง รัฐบาล และ คสช.ไม่อาจจะทำสำเร็จได้ เราต้องการความร่วมมือจากทุกคน ด้วยการสาน “พลังประชารัฐ” ช่วยกัน ช่วยกันผ่านวันเวลาที่ยากลำบากของประเทศไทยไปให้ได้พร้อมๆ กัน เราจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง