พระมหาไพบูลย์ จิรัฎชิโก วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ช่วงวันเข้าพรรษาปีนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 20 ก.ค.2559 มีพุทธศาสนิกชนนำเทียนพรรษา เครื่องสังฆทานมาถวายจำนวนมากจนเกินความต้องการ ทางวัดจึงได้นำของที่ญาติโยมนำมาถวายพระส่งต่อไปให้วัดและโรงเรียนในชนบท โดยคัดแยกของจากสังฆทานออกเป็นประเภท เช่น เครื่องใช้และอาหารแห้งก็จะถวายให้วัดในชนบท ตลอดจนโรงเรียนตามแนวชายแดนที่ขาดแคลน เพราะหากเก็บสิ่งของทั้งหมดไว้ในวัดก็อาจไม่เกิดประโยชน์ จึงเก็บไว้เพียงเล็กน้อยเท่าที่จำเป็นต้องใช้ บางส่วนจะเก็บเป็นส่วนกลางของวัด และบางส่วนถวายให้พระสงฆ์แต่ละรูปไว้ใช้ส่วนตัว
พระมหาไพบูลย์กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางวัดพระศรีฯ ได้นำของไปถวายวัดซึ่งอยู่ในพื้นที่ชนบทมาตลอด แต่ละครั้งใช้รถนำของไปกระจายประมาณ 2-3 คัน ในพื้นที่หลายจังหวัดทั้งภาคเหนือและอีสาน ไม่ต่ำกว่า 10 วัด
หากช่วงไหนที่ทางวัดไม่สะดวก ก็จะร่วมกับองค์กร หน่วยงาน หรือสถาบันการศึกษาที่จัดโครงการเพื่อการศึกษาต่างๆ ร่วมสนับสนุนจัดนำของเหล่านี้ไปร่วมบริจาค ล่าสุดไปที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตะโกปิดทอง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี และนำไปมอบให้กับตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพวกยารักษาโรค ข้าวสาร ปลากระป๋อง
ขณะที่ในส่วนของอาหารที่พระสงฆ์ได้รับบิณฑบาต หรือญาติโยมนำมาถวายที่วัดในแต่ละวันซึ่งจะมีทั้งอาหารคาวหวาน พระจะเก็บไว้เพียงพอฉันวันต่อวันเท่านั้น ส่วนที่เหลือก็จะแบ่งนำไปประกอบเป็น "อาหารสำรวม" คือนำอาหารไปเลี้ยงคนที่โรงทานที่ตั้งอยู่ภายในวัด ใครหิวก็สามารถทานได้
"การส่งต่อของทำบุญไปยังที่อื่นที่มีความต้องการนั้นขึ้นอยู่กับแนวทางการปฎบัติของแต่ละวัด แต่สำหรับวัดพระศรีมหาธาตุจะเน้นถวายวัดป่ารวมถึงการบริจาคให้โรงเรียนที่ขาดแคลน บางวัดอยู่ห่างไกลโยมเข้าไปทำบุญไม่ถึง บางครั้งเทียนไม่มี หลอดไฟขาด ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ถือว่าเป็นการช่วยในการสืบทอดพระพุทธศาสนา" พระมหาไพบูลย์กล่าว
พระมหาไพบูลย์ให้ความรู้เกี่ยวกับความหมายของ "สังฆทาน" ว่า คือ ทานที่ต้องการถวายพระสงฆ์หรือผู้แทนพระสงฆ์ ไม่จำเพาะเจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง เป็นการถวายด้วยศรัทธา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าไม่ว่าการจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด หรือใส่บาตรกับพระที่เดินบิทฑบาตรก็ถือว่าเป็นสังฆทานทั้งสิ้น
"สังฆทาน" ที่มักจะถูกใส่ไว้ในถังสีเหลือง ภายในบรรจุข้าวของเครื่องใช้ที่มักจะเป็นสิ่งของที่พระภิกษุจำเป็นต้องเก็บไว้ใช้ เช่น ผงซักฟอก ยาสีฟัน แปรงสีฟัน สบู่ ยาสระผม สบงจีวร เครื่องนุ่งห่ม ใบมีดโกน เป็นต้น
พระมหาไพบูลย์ตั้งข้อสังเกตว่าปัจจุบันนี้มีคนมาทำบุญและถวายสังฆทานที่วัดน้อยลงกว่าเมื่อก่อน จะมีมามากเฉพาะช่วงที่มีงานบุญใหญ่หรือเทศกาลสำคัญ เช่น ทำบุญเข้าพรรษา ออกพรรษา วันปีใหม่ วันสงกรานต์ ปริมาณสิ่งของที่นำมาถวายจึงน้อยลงตามไปด้วย
สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ ระยะหลังญาติโยมมักจะจัดชุดสังฆทานมาถวายเองแทนการซื้อชุดสังฆทานสำเร็จรูป ซึ่งพระมหาไพบูลย์สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะมีข่าวเกี่ยวกับชุดสังฆทานที่ไม่มีคุณภาพ ใช้สิ่งของหมดอายุ หรือ "ยัดไส้" ทำให้ดูเหมือนมีปริมาณมาก
พระครูสังฆรักษ์ปณียกร มหาวีโร วัดบางบัว กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ช่วงออกพรรษาจะถึงจะเป็นช่วงที่มีคนมาถวายของแห้งเยอะที่สุด เพราะเป็นช่วงที่มีการตักบาตรเทโว ทางวัดก็ได้ทยอยนำสิ่งของที่ได้จากสังฆทานไปบริจาคตามวัดต่างๆ ที่ขาดแคลนเช่นกัน ซึ่งมีทั้งที่ติดต่อมาเองและที่วัดบางบัวนำไปให้เอง
"วัดบางบัวไม่เก็บของที่ญาติโยมาถวายไว้เยอะ เพราะในปีหนึ่งมีงานบุญหลายครั้ง ก็มีญาติโยมนำของมาถวายตลอด ถ้าเก็บไว้เฉยๆ ก็หมดอายุ แบ่งปันให้ผู้ที่ขาดแคลนจะเป็นประโยชน์กว่า"
พระครูสังฆรักษ์ยอมรับว่าชุดสังฆทานส่วนหนึ่งมีของที่หมดอายุแล้ว บางครั้งนำมาฉันหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้ก็ต้องทิ้งไป บางครั้งใส่เครื่องใช้ เช่น ผงซักฟอกปนมากับอาหารแห้ง ทำให้อาหารมีกลิ่นผงซักฟอกปนไปด้วย อีกทั้งชุดสังฆทานเหล่านี้มักจะมีราคาแพงเกินจริง
นอกจากนี้ท่านยังได้แนะนำพุทธศาสนิกชนว่า ควรเลือกของที่พระได้ใช้จริงๆ มาถวาย ไม่จำเป็นต้องซื้อชุดสังฆทานมาทั้งชุด แต่เลือกเฉพาะสิ่งของที่จำเป็นและมีประโยชน์เพียงไม่กี่อย่างตามกำลังทรัพย์ก็เพียงพอแล้ว
ส่วนอาหารคาวหวานที่มีญาติโยมนำมาถวายนั้น ทางวัดเคยร่วมกับสถานีตำรวจบางเขนจัดโครงการอาหารกลางวันให้เด็ก ซึ่งมีวัดเข้าร่วมโครงการ 5 วัด คือ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดบางบัว วัดไตรรัตนาราม วัดราษฎร์นิยมธรรม (วัดหนองผักชี) และวัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต โดยมอบอาหารให้เด็กนักเรียนในโรงเรียน 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบางบัว โรงเรียนวัดราษฎรนิยมธรรม โรงเรียนประชาภิบาล และโรงเรียนบ้านคลองบัว โดยตำรวจจะมารับกับข้าวและอาหารที่พระสงฆ์แบ่งไว้เป็นประจำทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์
เจ้าหน้าที่กลุ่มคุ้มครองพระพุทธศาสนา สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่าการที่วัดนำของทำบุญหรือชุดสังฆทานไปแจกจ่ายให้ผู้ที่มีความต้องการนั้นสามารถทำได้ หรือพระสงฆ์จะเก็บไว้ใช้เองก็เป็นสิทธิ์ของสงฆ์ไม่ผิดกฎระเบียบข้อบังคับ และแต่ละวัดก็จะมีกฎระเบียบที่ใช้ดูแลกันเองอยู่แล้ว
ทั้งนี้ชุดสังฆทานนั้นหากผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืนไม่ปิดป้ายแสดงราคารายการสินค้าที่นำมาบรรจุในชุดเครื่องสังฆทานจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่หากขายแพงเกินความเป็นจริงมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ยไมพร คงเรือง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน