วันนี้ (26 ก.ค.2559) ในเวทีอภิปรายหัวข้อ "สรุปพนันบอลยูโร 2016 เด็กไทยเสียเท่าไหร่" นายธน หาพิพัฒน์ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการรับชมและการเล่นพนันทายผลฟุตบอลยูโร 2016 ของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา โดยสำรวจช่วงเวลาหลังการแข่งขันฟุตบอลยูโร ระหว่างวันที่ 11- 22 กรกฎาคม ปี 2559 พบว่า กลุ่มตัวอย่างนิยมรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร และพบพฤติกรรมเสี่ยงขณะรับชม เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ กินอาหารฟาสต์ฟู๊ด รวมถึงชวนเพื่อนเล่นการพนัน
พบกลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่ง หรือ ร้อยละ 43.7 ยอมรับมุ่งเล่นพนันแบบได้เสีย วงเงินพนันเฉลี่ยจากเดิม 1,879 บาท ต่อคู่ เพิ่มขึ้นเป็น 3,123 บาท ต่อคู่ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างยังยอมรับว่า ใช้ข้อมูลจากสื่อช่องทางต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก เคเบิลทีวี เว็บพนันกว่าร้อยละ 91.5 มาประกอบการเล่นพนัน
สอดคล้องกับข้อมูลจากนางเอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา หรือ Media Monitor ที่ศึกษาการนำเสนอของสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ ช่วงที่มีการแข่งขันบอลยูโร พบว่า หนังสือพิมพ์กีฬารายวัน ให้ข้อมูลชี้ช่องทางเล่นพนันทายผลฟุตบอลมากที่สุด ทั้งบอกวิธีการเล่นบอกแต้มต่อ และความเคลื่อนไหวต่างๆ ส่วนสื่อวิทยุและสื่อโทรทัศน์มีการส่งเสริมให้เสี่ยงโชคพนัน เช่น ส่ง SMS และพบว่ามีการเปิดเว็บไซต์พนันจำนวนมาก
นายธนากร คมกฤส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงมาตรการการควบคุมของภาครัฐไม่เข้มแข็งมากพอ ดังนั้นจึงเสนอให้มีกระบวนการทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เข้มงวดอย่างรอบด้านและต่อเนื่อง
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่ามีประชาชนขอรับคำปรึกษาผ่านสายด่วนเลิกพนัน 1323 ช่วงฟุตบอลยูโร 2016 มีเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า เมื่อเทียบกับฟุตบอลโลกในปี 2014 ดังนั้นควรปลูกฝังให้สังคมตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพนัน ที่สำคัญสื่อควรเสนอข้อมูลอย่างเหมาะสม