วันนี้ (29 ก.ค.2559) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้ประชาชนว่า วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” เนื่องจากเมื่อ 50 กว่าปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงเป็นองค์ประธาน ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ร่วมกับคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทรงแสดงความสนพระราชหฤทัย ในการใช้ภาษาไทย ทรงห่วงใย และได้ทรงพระราชทานแนวความคิดในการอนุรักษ์ภาษาไทย รวมทั้งทรงย้ำให้ประชาชนชาวไทยนั้นได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทย เนื่องจากเป็นมรดกของคนไทยทุกคน ผู้เป็นเจ้าของภาษาคือคนไทยทุกคน ควรภาคภูมิใจที่ชาติไทยใช้ภาษาไทย เป็นภาษาประจำชาติ ของตัวเองมากว่า 700 ปีแล้ว เป็นภาษาหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีทั้งภาษาพูด ตัวอักษรเขียน ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยไว้ ดังที่ปรากฏบนหลัก “ศิลาจารึก” ต่อมานั้นองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ที่เรียกวา UNESCO ได้ยกย่องศิลาจารึกว่าเป็น “มรดกความทรงจำของโลก” โดยได้ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ผ่านตัวอักษรไทย ที่อุดมด้วยคุณค่าทางวิชาการ หลายสาขา ทั้งในด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม วรรณคดี ศาสนา และจารีตประเพณี
ในการนี้ ขอให้คนไทยทั้งชาติร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญ และคุณค่าของภาษาไทย อันแสดงถึงความเป็นชาติ ใช้ให้ถูกต้อง ชัดเจน ตามหลักไวยากรณ์ ทั้งการพูด อ่าน เขียน ให้เหมาะสมกับกาลเทศะ เพื่อให้เกิดความงดงามทางภาษา เช่น การพูดจามีหางเสียง “ครับ – ค่ะ” อันเป็นเอกลักษณ์และสมบัติทางวัฒนธรรม ที่โดดเด่นของชาติ ให้ดำรงอยู่ตลอดไป ก็เหมือนกับที่เคยกล่าวหลายครั้งแล้วว่า สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงรับสั่งอยู่เสมอว่าขอให้คนไทยได้เรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ เรามีประวัติศาสตร์อันยาวนานทั้งเรื่องภาษา วัฒนธรรม ประเพณี อันงดงาม อย่าทิ้งของเดิม จะเดินไปข้างหน้าก็กลับมาดูของเดิมไว้ด้วย รักษาไว้ให้ได้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการติดตามข่าวสารด้านการศึกษาของลูกหลานของเรา ห้วงเดือน กรกฎาคม นี้ เราก็มีนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันต่างๆ ระดับนานาชาติ ซึ่งเกี่ยวพันกับแนวทางการศึกษาที่เรียกว่า “STEM” “STEM” ศึกษา อันได้แก่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยได้ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น อันที่ 1 คือการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ ที่ประเทศเวียดนาม ชนะเลิศ 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน, อันที่ 2 คือการแข่งขันคณิตศาสตร์นานาชาติ ณ ประเทศมาเลเซีย ของเด็กนักเรียน ป.1 ถึง ม.3 จำนวน 63 คน สามารถคว้าชัยได้ถึง 27 เหรียญทอง และรางวัลอื่นๆ อีกรวมทั้งสิ้น 57 รางวัล ไม่ใช่น้อยเลย น่าภูมิใจแทนเด็กๆ เขา
เรื่องที่ 3 คือการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก ระหว่างประเทศ ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ของเยาวชน ชั้นมัธยมศึกษา จำนวน 6 คน สามารถคว้าได้ 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และได้คะแนนรวมเป็นอันดับที่ 12 จากทั้งหมด 109 ประเทศ มีผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 602 คน ไม่ใช่ธรรมดา
ที่ 4 คือการแข่งขันประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ ระดับนานาชาติ ณ ประเทศจีน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จำนวน 12 คน ชนะเลิศ 2 รางวัล และรางวัลอื่นๆ อีก รวมทั้งสิ้น 8 รางวัล ที่น่าสนใจเป็นผลงาน “เครื่องช่วยเก็บพริก” ก็เกิดจากอยากช่วยผู้ปกครองทำงาน จนสามารถพัฒนาประสิทธิภาพการเก็บพริก จากเก็บด้วยมือได้ 5 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งถ้าเอาเครื่องมือที่เด็กๆ คิดกันมาแล้วนี่ง่ายๆ สามารถเก็บพริกได้ 13 กิโลกรัมต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า เหล่านี้เป็นต้น ขอแสดงความยินดีและชื่นชมคณะนักเรียนและคณาจารย์ทุกท่านด้วย สำหรับการที่จะพัฒนาการเรียนรู้สำคัญที่สุดคือครอบครัว พ่อแม่จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในกรณี “สะเต็มศึกษา” นั้น มีความเชื่อมโยงกับทุกอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ที่เรียนไปแล้วว่ามี 5+5 S Curve เดิมกับ S Curve ใหม่ New S Curve จะเป็น “จุดเริ่มต้น” สนับสนุนการพัฒนาประเทศไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ในอนาคต นอกจากความรู้ในตำราดังกล่าวแล้ว อยากให้เด็กนักเรียน นักศึกษา ครู ให้ความสำคัญกับ “ความรู้รอบตัว” ทุกคนต้องพร้อมจะเป็นนักเรียนด้วยกัน เริ่มจากสิ่งใดที่ใกล้ตัว ยก ตัวอย่าง เช่น “เม็ดพลาสติก โพลิเมอร์ โพลีคาร์บอเนต” เป็นนวัตกรรม ซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดโลก มีอุตสาหกรรมต่อเนื่อง มากมายหลายสาขาทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ กันชนรถยนต์ โครงรถมอเตอร์ไซค์ หมวกกันน๊อค อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไอที กีฬา สมาร์ทการ์ด รวมทั้งอุปกรณ์การแพทย์ เช่น เครื่องฟอกไต และหุ่นยนต์ต่างๆ
ก็จะเห็นได้ว่าทุกอย่างนั้นจำเป็นต้องเริ่มต้นจาก “เม็ดพลาสติก” ทั้งสิ้นต้องการองค์ความรู้ “สะเต็มศึกษา” ต้องการนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะทำให้สะท้อนโอกาสในการทำงาน ที่หลากหลาย ยิ่งถ้าทุกคนได้รู้ว่าไทยนั้นเป็น 1 ใน 8 ของศูนย์การผลิตเม็ดพลาสติกที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในโลก ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ตลอดปีที่ผ่านมา ไทยผลิตเม็ดพลาสติกป้อนตลาดโลก เกือบ 3 แสนเมตริกตัน แต่น่าเสียดายที่การผลิตเม็ดพลาสติกขั้นต้น การแปรรูปและการเพิ่มมูลค่า ไปเกิดนอกประเทศ ไม่ได้เกิดในบ้านเรา ซึ่งเราถือว่าเราเป็น “ต้นทาง” เพราะฉะนั้นการแปรรูป ไปสร้างนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าไปอยู่ข้างนอกหมด เราก็สูญเสียโอกาส ที่จะสร้างงาน สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ
ที่ยกตัวอย่างมานั้น เพราะอยากให้ครู-ผู้ปกครอง แล้วก็นักเรียนด้วย ช่วยกันให้ความสำคัญในการ “ต่อยอด” จาก “เกร็ดความรู้” รอบๆ ตัว สถานการณ์โลก สถานการณ์ภายใน ปัจจัยภายในภายนอกของประเทศ ลูกหลาน ก็ต้องให้ความสนใจ เพราะว่าการศึกษานั้นไม่ใช่เพื่อใบปริญญาเป็นสำคัญอย่างเดียว เราต้องคิดถึงการประกอบอาชีพ เพื่อจะเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวต่อไปภายภาคหน้า ถ้าเรามองไปไกลกว่านั้น คือเพื่อการพัฒนาประเทศ เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยกันสร้างทรัพยากรมนุษย์ มีการพัฒนาโดยการสร้างความตระหนักรู้ ในเรื่องความรู้รอบตัวและความคิดสร้างสรรค์ ให้กับลูกหลานของเราอย่างต่อเนื่องด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันนั้น นอกจากจะเป็นการ “เพิ่มผลผลิต” ด้วยนวัตกรรมแล้ว หรือนำเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิตแล้ว รัฐบาลก็ยังเน้น “การลดต้นทุน” ในการผลิตด้วย ในกิจกรรมต่างๆ หลายตัวอย่างด้วยกัน เรื่องแรก คือการช่วยเหลือชาวนาตามมาตรการลดค่าเช่านา ซึ่งอยู่ในเรื่องของการลดปัจจัยการผลิต ซึ่งจะเป็นต้นทุนการผลิตของเกษตรกรในฤดูการผลิต ปี 59/60 รอบการทำนาปรังตั้งแต่มกราคมถึงมิถุนายน 59 โดยได้ดำเนินการมา 2 มาตรการ คือ 1. คือการควบคุมค่าเช่านา ไม่ให้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด มีผลดำเนินการทั้ง 4 ภาคของประเทศ ซึ่งมีผู้เช่านาทั้งสิ้นในขณะนี้กว่า 350,000 ราย ในพื้นที่นา 9 ล้านกว่าไร่ สามารถควบคุมค่าเช่านาได้ 260,000 ราย และสามารถเจรจาลดค่าเช่านาได้ 100,000 ราย รวมเป็นเงินในการลดต้นทุนการผลิตในเรื่องค่าเช่านาให้กับเกษตรกรได้มากกว่า 48 ล้านบาท
และขอความร่วมมือในการลด งดค่าเช่านา ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ก็สามารถ “ลด” ค่าเช่านาได้เกือบ 600 ราย ในพื้นที่ 7,000 ไร่ คิดเป็นเงิน 1 ล้านกว่าบาท และ “งด” เก็บค่าเช่านาได้ เกือบ 16 รายในพื้นที่ 266 ไร่ คิดเป็นเงิน 200,000 กว่าบาท ทั้งนี้ เป็นความร่วมมือของทุกฝ่าย ขอบคุณบรรดาผู้ให้เช่านาด้วย ให้ความร่วมมือ เกษตรกรด้วย อะไรด้วย ทุกคนต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อย่าเบียดเบียนกันในช่วงที่มีความยากลำบาก เราช่วยกันทำกุศล สามารถทำให้ชาวนาไทยนั้นลืมตาอ้าปากได้ มีรอยยิ้มมีความสุขมากขึ้น
ในเรื่องที่ 2. คือการปรับลดขั้นตอนการส่งออกสินค้า อันนี้เป็นเรื่องของการอำนวยความสะดวก เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ อำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ได้นำร่องการลดขั้นตอนการส่งออก เช่น “สินค้าข้าว” ก็ผลดีในทุกมิติ ได้แก่ การพิจารณาขั้นตอนที่เกี่ยวกับระเบียบและกฎหมา ตั้งแต่การยื่นคำขอ จนถึงได้รับใบอนุญาต ใบรับรอง “ลดลง” กว่า 70% ส่งผลให้ย่นระยะเวลาดำเนินการลง 83% มีค่าใช้จ่ายถูกลงมากกว่า 60% และลดเอกสารลง 45% ในการลดการใช้เอกสารที่เป็นกระดาษ ทั้งแบบฟอร์มคำขอ และเอกสารแนบ เพื่อจะนำระบบ IT ที่เราเรียกว่า ICT ก็จะนำระบบการบันทึกและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาใช้
รวมทั้งการยกเลิกบางขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน ไม่จำเป็น ซึ่งในการส่งออกข้าวนั้น มี 10 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่หน่วยงานเดียว วันนี้ต้องทำความเข้าใจกันให้มาก มาตรการดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของรัฐบาลนี้ ในความพยายามที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การให้บริการภาครัฐ ด้วยมาตรการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจให้รวดเร็ว และโปร่งใส ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวมอีกด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปีหน้านั้นเราต้องช่วยกันนำไปขยายผลกับสินค้าเกษตรอื่นอีกด้วย เช่น น้ำตาล ยางพารา สินค้าแช่แข็ง เป็นต้น ผมเห็นว่า “เวลา” นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของต้นทุนการผลิต ถ้าลดเวลาลงไม่ได้ ก็จะเป็นตัวถ่วงในการทำธุรกิจ ค่าใช้จ่ายต่างๆ สิ้นเปลือง แล้วก็ชักช้าในการดำเนินการ ทำให้เกิดความล่าช้า เป็นตัวถ่วงการพัฒนาประเทศในภพรวม เราก็เดินหน้าไปไม่ได้ แข่งขันใครไม่ได้ มีหลายเรื่อง เช่นที่เราทำไปแล้ว คือการจดทะเบียนธุรกิจ ซึ่งเดิมใช้เวลาเป็นแรมเดือน การทำ EIA ใช้ เวลาเป็นปี เราต้องช่วยกันแก้ไข ต้องปรับปรุง จะทำยังไงจะไปได้ ถ้าต่างคนต่างไม่ยึดถือทางสายกลางที่จะทำให้ไม่เสียหายด้วยกันทั้งคู่ ก็จะทำได้ แต่ถ้าไปซ้ายทั้งหมดอย่างเดียว หรือขวาอย่างเดียวไม่ได้ เอากฎหมายมาว่ากันก่อนว่าจะแก้ไขกันอย่างไร ถึงจะเกิดผลผลิตขึ้นมา ที่เป็นสัมฤทธิ์ เป็นผลสัมฤทธิ์ เราต้องพัฒนาให้ดีขึ้น เร็วขึ้นทั้งหมด
ต่อไปเรื่อง “ศูนย์ดำรงธรรม” ที่เรียกว่าสายด่วน 1567 เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เป็นวิวัฒนาการที่ดีที่รัฐบาลนี้ และ คสช.ให้ความสำคัญตั้งแต่ปีแรกที่เราเข้ามา ในการที่เราจะปรับรูปแบบการให้การบริการ การเข้าถึงการสื่อสารกับประชาชน ก็ถือว่าเป็นช่องทางสื่อสารที่สำคัญ ที่รัฐบาลนี้ได้ใช้ดูแลทุกข์สุขของประชาชนทุกคน ให้สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ภายในจุดเดียว ตามแนวทางประชารัฐและการบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ นับตั้งแต่ 18 กรกฎาคม 2557 ตั้งแต่ตั้งมาจนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลา 2 ปีแล้ว ประชาชนมาร้องเรียน ร้องทุกข์มีการใช้บริการทั้งในรูปแบบเบ็ดเสร็จ ณ ศูนย์บริการ หรือใช้สำหรับการส่งต่อ หรือในการที่เราจัดแบบหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ได้แก้ปัญหาเกือบ 3 ล้านราย และก็ปัญหาต่างๆที่ว่านั้นมันถูกคลี่คลาย ได้รับการแก้ไขมากกว่า 96% และ 4 %ที่เหลือเนี่ยเป็นเรื่องของความซับซ้อน เรื่องที่มันเป็นมายาวนาน ต้องแก้อีกหลายอย่าง ต้องขอเวลาอีกสักหน่อย
ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก หรือเรื่องใหญ่ เช่น ขอยกตัวอย่าง (1) ชาว บ้าน จ.พระนครศรีอยุธยา ถูกไล่ที่ ไม่มีที่อยู่อาศัย หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ก็จัดหาพื้นที่ราชพัสดุแล้วก็ร่วมกับเอกชน ประชาชนในพื้นที่ ตามแนวทางประชารัฐช่วยกันสร้างบ้านให้ เรื่องที่ (2) คือชุมชนใน จ.ร้อยเอ็ด ได้ร้องเรียนโรงงานที่ส่งเสียงดังและมีกลิ่นเหม็น เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายได้ลงพื้นที่ร่วมกัน ทำงานอย่างบูรณาการ แนะนำให้ปลูกต้นไม้ และใช้หลักวิชาการเข้ามาแก้ไขปัญหา เป็นต้น
ทั้งนี้ อยากให้ศูนย์ดำรงธรรมเป็น “มากกว่า” ช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐ อยากให้เป็นศูนย์รวมทุกอย่างในการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน สอน มีกระบวนการเรียนรู้ด้วย เพื่อจะให้เกิดการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการบริหารราชการแผ่นดิน และก็จะได้ให้ประชาชนช่วย “เป็นหูเป็นตา” ไม่งั้นก็ “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” เหมือนคำกล่าวเดิมๆ วันนี้ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา หรือที่เคยกล่าวกันไว้ว่า “ธุระไม่ใช่” อย่าไปยุ่งดีกว่า อันนี้ไม่ได้แล้ว เพราะบ้านเมืองตอนนี้ต้องการความสงบสุข ต้องช่วยกันดูแลความเรียบร้อยทั่วไปของบ้านเมือง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หน้าที่สำคัญ คือการเฝ้าระวังแล้วแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎหมาย เช่น บ่อนการพนัน แหล่งมั่วสุม เจ้าหน้าที่ที่รับแจ้งก็คงต้องระมัดระวังในเรื่องของความปลอดภัยให้คนแจ้งด้วย ไม่งั้นเขาก็ไม่อยากจะยุ่ง เพราะงั้นขอให้เป็นความลับในกรณีเหล่านี้แล้วก็จะได้มีการช่วยเหลือกัน ไม่ว่าจะเรื่องของการดูแลทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ การบุกรุกป่า ไม่ใช่เอาเขามาช่วยแล้วเอารูปเขามาถ่ายออกทีวี ออกอะไรต่างๆ เขาก็อันตรายนะ อีกหน่อยคงไม่มีคนช่วย เรื่องการทิ้งขยะของเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ก็ช่วยกันตักเตือน เห็นใครทิ้งเดี่ยวนั้นก็ว่าเดี๋ยวนั้น ไม่ใช่ทะเลาะกัน บอกเขาบอกช่วยเก็บนะครับอย่าทิ้งตรงนี้เลย ก็แค่นี้เอง ถ้าทุกคนปล่อยปละละเลยไปเรื่อยๆ มันก็ ขยะเหล่านั้นก็กระจายไปทั่วนะ รถวิ่งไปวิ่งมามันก็ยิ่งสกปรกมากไปกว่าเดิมนะ ช่วยกันตักเตือนเท่านั้นเอง ไม่ใช่ไปทำร้าย หรือไปว่ากล่าวให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันไปอีก
เพราะ ฉะนั้นต่อไปนี้ “ข้าราชการ” ก็คงจะต้องทำงานหนักขึ้น ผมทราบว่าหนักขึ้นมาสองปีแล้ว ต้องเสียสละมากกว่าที่เคยมา ถือว่า “เหงื่อของข้าราชการ คือน้ำใจที่ให้กับประชาชน” ทุ่มเทให้กับเขา โดยเฉพาะในช่วงการที่เราจะเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ในอนาคต ประเทศชาติขณะนี้ต้องการคำว่า “จิตวิญญาณ จิตสำนึก จิตสาธารณะ อุดมการณ์” ของความเป็นคนไทยเหล่าเนี้ย มันต้องเกิดขึ้น ต้องมีอยู่ รื้อฟื้นมาเท่านั้นเอง เพราะว่าทุกคนนั้นจะได้ใช้เป็นแรงผลักดัน เป็นแรงขับเคลื่อนประเทศ เพื่อให้พัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
ถ้าจะยกตัวอย่าง ก็ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมัน มีสงครามเกิดขึ้น มีความเสียหายมากมาย แต่สามารถเร่งพัฒนาประเทศ ภายหลังสงครามได้โดยเร็ว ด้วยความอดทน ด้วยความร่วมมือกันทุกฝ่าย ความสบายอาจจะไม่ได้สร้างคนมากนัก แต่ความลำบากจะสร้างคนให้แข็งแกร่ง ประเทศเราก็เหมือนกัน เราอาจจะโชคดีไม่มีวิกฤตการณ์ที่มันรุนแรงเหมือนต่างประเทศเขา แต่ต้องใช้ทุกอย่างที่เรียนรู้มาจากเพื่อนเราบ้าง อะไรบ้างมาช่วยกันปรับปรุง อย่าทำให้โอกาสที่มีอยู่แล้วมันสูญเสียไป เราทะเลาะกันอีกต่อไปไม่ได้แล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่อง“ยุทธศาสตร์ ชาติ” กล่าวมาหลายครั้งแล้ว เป็นความหวังหนึ่งในการที่จะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อันนี้ไม่ใช่คิดขึ้นมาเอง มันเป็นหลักการทางวิชาการด้วยอยู่แล้ว เอกสารวิจัย การเรียนในหลักสูตรต่างๆ มันมีหมด เพราะฉะนั้นมันเป็นแนวทางที่จะทำให้รัฐบาลหรือผู้บริหารประเทศนั้น ได้มีการบริหารไปด้วยความโปร่งใสตามหลักการทั้งหมด 6 ข้อของธรรมาภิบาล โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ ผ่านความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชน และใช้แนวทางของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เหล่านี้จำเป็นต้องรื้อฟื้นขึ้นมา
เพราะฉะนั้น เราถึงจำเป็นที่จะต้องบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายสูงสุดของประเทศแล้ว มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่จะกำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกันกับยุทธศาสตร์ชาตินี้ อาทิเช่น แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่จะประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2559 นี้ ที่เราเรียกว่า “แผน 6-6-4” หมายความถึง “ยุทธศาสตร์6 ด้าน” ที่สอดคล้องกันกับยุทธศาสตร์แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 มี 6 ด้าน อันได้แก่ (1) ด้านความมั่นคง เรื่องการเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน (2) ด้านเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและมีการแข่งขันเพิ่มขีดความสามารถได้อย่างยั่งยืน (3) ด้านสังคม คือเป็นการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม (4) ด้านทรัพยากรมนุษย์ คือการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ (5) ด้านสิ่งแวดล้อม คือการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ
(6) ด้านการบริหารราชการแผ่นดินก็คือการบริหารจัดการในภาครัฐ การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบและการมีธรรมาภิบาลในสังคมไทย
นอกจากนั้น ยังมี“ยุทธศาสตร์เพิ่มเติม 4 ด้าน” ซึ่งจริงๆ แล้วบรรจุอยู่ใน 6 ด้าน เพื่อจะสนับสนุนให้ 6 ยุทธศาสตร์แรกนั้น บรรลุตามวัตถุประสงค์ ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการจะสนับสนุนเศรษฐกิจสังคม การกระจายความเจริญ การพัฒนาเมืองและพื้นที่ รวมทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน (2) ที่เสริมไว้ คือการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมโดยเน้นการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ของคนไทย เพื่อจะเป็นการขับเคลื่อนภาคการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
(3) การพัฒนาภาค เมือง เศรษฐกิจที่รวมอยู่ในพื้นที่ด้วย เราต้องพัฒนาทั้งภูมิภาค ทั้งเมือง แล้วก็ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจที่เรามีศักยภาพ เราต้องยกระดับทั้งหมดเนี่ยให้ตั้งแต่ฐานการผลิต และการบริการเดิมให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น รวมทั้งมีการขยายฐานใหม่ ให้ความสำคัญกับการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม อันจะเป็นยุทธศาสตร์เชิงรุก ที่จะขยายความเจริญกระจายออกไป ยกระดับรายได้ของประชาชนอย่างเท่าเทียม ทุกภูมิภาคของประเทศ คือไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ภาคกลาง เมืองใหญ่ มันแน่นขึ้นทุกวัน เราต้องสร้างสังคมเมืองในชนบทโดยมีระเบียบ ไม่งั้นคนก็จะเข้ามาในเมืองกันใหญ่ จนกระทั่งมีปัญหาการจราจร มีปัญหาเรื่องน้ำเสีย มีอะไรมากมาย ก็ต้องกระจัดกระจายออกไปอยู่ในพื้นที่ภูมิลำเนาบ้านเกิด นักเรียนนักศึกษาก็ต้องมุ่งหวังเพื่อจะได้กลับไปพัฒนาบ้านของตัวเองจะดีกว่า รัฐบาลมุ่งเน้นอย่างนั้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า (4) คือความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อจะให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน เชื่อมโยงกัน ในกรอบกลุ่มประเทศ ที่ผมกล่าวไปแล้ว คือ CLMVT อาเซียน แล้วก็โลก เพราะเราอยู่ใน “ห่วงโซ่คุณค่า” เดียวกัน เลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว เราอพยพย้ายที่เราไม่ได้ ทุกประเทศย้ายที่ไม่ได้หมด ที่ผ่านมานั้นเราก็ได้ร่วมเป็นภาคี ลงสัตยาบันให้การรับรองข้อตกลงต่างๆ ระหว่างประเทศไว้หลายเรื่องด้วยกัน ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา แต่อาจจะไม่สามารถปฏิบัติตามได้ทั้งหมด เพราะว่าไม่สามารถออกกฎหมาย เพื่อให้มีผลบังคับใช้ อย่างเป็นรูปธรรมได้ เพราะว่าที่ผ่านมาก็ทราบดีอยู่นะ กฎหมายบางกฎหมายมันออกไม่ได้เลย แต่รัฐบาลนี้ดำเนินการได้จนประสบผล “สำเร็จ” มันก็มีคนขัดแย้งไม่เห็นด้วย เห็นด้วย อะไรก็แล้วแต่ แต่เราจำเป็น ถ้าเราไม่ทำเราก็อยู่ในโลกใบนี้ไม่ได้ เราจำเป็นต้องสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดความเชื่อมั่นในเวทีโลก
อาทิ เช่น พ.ร.บ. ความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ ตามความตกลง ของICAO, พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) ตามพิธีสารมาดริด, พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) ตามข้อตกลงป้องกันการฟอกเงิน, พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 22) ตามข้อตกลงการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน, พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์(ฉบับที่ 2) ตาม ความตกลงต่อต้านการค้ามนุษย์, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนการก่อการร้าย ตามสัญญาต่อต้านการก่อการร้าย เป็นต้น ตัวอย่างปัญหาสำคัญที่เชื่อมโยงกับนานาอารยประเทศ รัฐบาลนี้ได้พยายามเร่งรัดดำเนินการแก้ไขในห้วง 2 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ก็มีความก้าวหน้า มีความสำเร็จอยู่เป็นขั้นเป็นตอนโดยลำดับ และได้รับการยอมรับ อันที่ (1) การแก้ปัญหางาช้างตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ที่เรียกว่า CITES ด้วยการออก พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า, พ.ร.บ.งาช้าง และปรับปรุงแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย ซึ่งสำเร็จ ทำให้รอดพ้นจากการถูกคว่ำบาตรทางการค้าจาก CITES ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไม่น้อยกว่า 47,000 ล้านบาทต่อปี
(2) คือการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ด้วยการออก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ฉบับที่ 2 ได้ประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” ด้วยการดำเนินการใน 3 มิติ ทั้งการดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด การคัดแยกและคุ้มครองผู้เสียหาย รวมทั้งการป้องกันและควบคุมกลุ่มเสี่ยง จนมีความคืบหน้า ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ปรับระดับในรายงานการค้ามนุษย์ หรือ TIP Report ประจำปี 2559 ให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ “ดีขึ้น” ซึ่งจะส่ง “ผลดี” ต่อการแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU ของทาง EU เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกัน สินค้าประมงไทย เรามีมูลค่าการส่งออก กว่า 240,000 ล้านบาทต่อปี ก็ต้องช่วยกัน เสียสละกันหน่อย ช่วงนี้อาจจะลำบากอยู่บ้าง สำหรับผู้ประกอบการต่างๆ ชาวประมงเหล่าเนี้ย
อันที่ 3 คือการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน หรือ ICAO มีความก้าวหน้าตามลำดับตามแผนปฏิบัติการที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้จัดทำขึ้น มีการดำเนินการที่สำคัญ เช่น การออกพระราชบัญญัติกำหนดจัดตั้ง กพท. การเจรจาลงนามกับ EASA เรื่อง ขอบเขตของงานและความร่วมมือ รวมทั้งมีการแจ้งรายละเอียดกับสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาถึงสิ่งที่ไทยจะดำเนินการต่อไปตามห้วงระยะเวลา มีการคัดสรรและบรรจุบุคลากรตามโครงสร้างของ กพท.ในทุกด้าน มีการฝึกอบรมผู้ตรวจสอบความปลอดภัยการบินและมาตรฐานความปลอดภัยด้านอื่นๆ ให้เพียงพอ มีการว่าจ้างองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในระดับสากลจากสหราชอาณาจักร เข้ามาช่วยตรวจสอบและประเมินเพื่อจะออกใบรับรองธุรกิจการบินต่างๆ รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับ EASA และ JICA เพื่อยกระดับการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนในระยะยาว ขณะนี้ทั้งหมดนั้นอยู่ในขั้นตอนการเตรียมพร้อมที่จะรับการประเมินจาก ICAO ในช่วงเดือนธันวาคม 2559 ถึงมีนาคม 2560
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ICAO ได้ชื่นชม เห็นในความพยายามของไทยตลอดมา ชื่นชนในรัฐบาลไทยที่เอาจริงเอาจังอย่างดี มีวิสัยทัศน์ที่ดีต่อการแก้ไขปัญหา มีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลืออย่างพร้อมเพรียง พร้อมทั้งให้กำลังใจให้ดำเนินการสำเร็จ เพื่อจะรองรับการเป็น “ศูนย์กลางการบินของภูมิภาค” เราต้องช่วยกันนะครับไม่งั้นมันไปไม่ได้แล้ววันนี้ เราไม่ทำก็เพราะว่าเขาบังคับเรา เราเป็นคนที่ต้องทำตามระเบียบ เพราะเราต้องเชื่อมโยงกับเขา และอีกประการหนึ่ง คือเพื่อความปลอดภัย ทำเพื่อคนไทย เพื่อศักดิ์ศรีของความเป็นไทย เหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้เอามาคิดทั้งหมด
ล่าสุด สายการบินไทย ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ ได้รับรางวัลอันดับ 1 ประเภทสายการบินที่มีการปรับปรุงคุณภาพในเรื่องของการบริการ เป็น “ดีขึ้นมากที่สุด” แล้วก็เป็นอันดับ 1 ประเภทสายการบินที่ให้บริการสปาเลาจน์ “ยอดเยี่ยม” ผลจากการสำรวจความพึงพอใจของนักเดินทางทั่วโลก ระหว่างเดือน สิงหาคม 2558 – พฤษภาคม 2559 โดยสกายแทรกซ์ นอกจากนั้น ยังเป็น 1 ใน 3 ของสายการบินที่ให้บริการอาหารสำหรับชั้นประหยัด “ยอดเยี่ยม” เป็นสายการบินที่มีพนักงานให้บริการ “ยอดเยี่ยม” ของเอเชีย และเป็นสายการบินที่ให้บริการภาคพื้นดินในสนามบิน “ยอดเยี่ยม”
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการทำงานเพื่อปฏิรูปองค์กร ตามแผนปฏิรูปของบุคลากรทั้งหมดที่อยู่ในบริษัทนะครับ ช่วยกันทุกคนทุกระดับ ผมทราบว่าทุกคนเหน็ดเหนื่อยในช่วงที่ผ่านมา ก็ถึงมามีผลสำเร็จเพิ่มขึ้นตามลำดับ ต้องช่วยกันต่อไป ทั้งสหภาพต่างๆ ขอกรุณาให้เข้าใจ ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ มันล้มขึ้นไปแล้วเราจะไปทำงานที่ไหน ถ้าเราเรียกร้องมากกว่านี้มันยังไปไม่ได้ ก็ต้องคอยช่วยกัน ร่วมมือกัน ถึงจะมีรายได้กลับเข้ามา และก็จะเพิ่มรายได้ให้พวกเรา อย่าไปทำลายหม้อข้าวตัวเอง ทุกที่เลยนะครับทุกสหภาพช่วยกันดูด้วย อย่าไปเร่งรัดจนกระทั่งทุกอย่างล้มเหลวไปหมด ท่านก็จะไม่มีงานทำ นั่นคือปัญหาที่ผมเป็นห่วงนะ
เพราะฉะนั้นรัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ ก็อยู่ในระยะที่ 2 พูดมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพของบริษัทอันนี้ก็เป็นการฟื้นฟูระยะที่ 2 ของการบินไทยเหมือนกันจะต้องครอบคลุมทุกด้าน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขัน ความเป็นเลิศความเป็นเลิศในการบริการลูกค้า หลายเรื่องกำลังทำต่ออีก การที่เป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบินหรืออะไรก็แล้ว อีกมากมาย กิจการของบริษัทการบินไทย ขอแสดงความยินดีกับบริษัทการบินไทย ไม่ว่าจะเป็นบอร์ด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ ผู้บริหารระดับพนักงาน ลูกจ้าง อะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวข้อง ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านให้ประสบผลสำเร็จเร็วที่สุด
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สุดท้ายนี้ผมอยากฝากความในใจถึงประชาชนทุกภาคส่วน ทุกอาชีพ ทุกรายได้ ได้มองปัจจุบันและอนาคต ท่านต้องย้อนกลับไปที่อดีตก่อน อย่าเพิ่งลืม ลืมสิ่งที่มันเพิ่งผ่านมาไม่นาน ก่อน 22 พ.ค. 57 เราต้องเอาอดีตเหล่านั้นมาเป็นบทเรียน ในช่วงปี 58-59-60 เป็นช่วง “การเปลี่ยนผ่าน” เตรียมการวางรากฐานไว้ให้ ซึ่งในช่วงรอยต่อนี้ จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศระยะยาว ที่จะมีผลสืบเนื่องไปในอนาคต คือหลังจากปี 60เป็นต้นไป ตามแผนของสภาพัฒน์ฯ 60 – 64 สิ่งต่างๆ ที่เป็นปัญหาในอดีตนั้น เราทุกคนต้องช่วยกัน ว่าจะต้องไม่ย้อนกลับไปอีก อยากให้ทุกคนคิดว่าแล้วมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ฝากนักการเมืองที่ดีๆ ทุกพรรค ทุกคน ทุกกลุ่ม ได้กรุณาช่วยคิดดังๆ ออกอย่าพูดอย่างเดียวช่วยคิดด้วยแล้วก็คิดดังๆ ออกมาว่า อะไร นอกจากคำว่า “ประชาธิปไตย” ที่ผมไม่ขัดแย้งกับท่าน หรือคำว่า “เสียงเรียกร้องประชาชน”
ที่ว่ายังไงนะครับ ที่เขาร้องมาแล้วท่านจะทำอย่างไร เพื่อให้ 2 คำนั้นมีความหมายตามที่ท่านพูดออกมา เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาสเมื่อไรก็พูดออกมา สื่อสารกับประชาชน ท่านไม่ต้องบอกผมหรอกว่าท่านจะทำอะไรเมื่อท่านเข้ามาบริหารราชการ อะไรที่จะทำให้ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน อะไรที่จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ทำให้ประชาชนแบ่งฝ่าย เหล่านี้ โดยเป็นเห็นผลทางการเมือง ในทุกกลุ่มงานท่านต้องตอบออกมา เล่าให้เขาฟังเหมือนที่ผมเล่าอยู่ทุกวันนี้ 2 ปีมาแล้ว ความมั่นคง เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข การแก้ปัญหาความยากจน การลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างความเข้มแข็งของประเทศ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบ้านเมืองเรา กับทุกประเทศที่เขากำลังเร่งพัฒนาในภูมิภาคเดียวกันกับเรา ทั้งในอาเซียนด้วย
ผมก็ฟังปัญหาต่างๆ จากประชาชน วันนี้ก็ยังมีความมั่นใจอยู่ในการทำงานของรัฐบาลที่ทำอยู่ แต่เขาไม่แน่ใจกับการทำงานของนักการเมือง นี้แหละคือผมเป็นห่วงนะแล้วผมเองก็ไม่ใช่ศัตรูของท่าน เพราะฉะนั้นเขาเป็นห่วงกับการทำงานของท่านในอนาคต ช่วยกัน ทำให้ให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกับท่าน ไม่อยากให้มองแต่คอยจับผิด อะไรที่ยังไม่สำเร็จก็กำลังแก้ไขอยู่ท่านก็จับผิดเล็กๆ น้อยๆ รอยต่อช่องว่างเล็กๆ น้อยๆ ก็แก้ไปซิครับ ในเมื่อเราวางเป้าหมายแล้วก็ต้องเดินตามแล้วก็แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่าง เราเดิน เดินทางมันก็มีอุปสรรคมากมาย แต่ถ้ามาติอะไรที่กำลังเดินอยู่กำลังแก้อยู่ มันไปไม่ได้หรอก ต้องช่วยกัน หลายอย่างท่านก็ทำไว้แล้ว หลายอย่างท่านก็ยังทำไม่สำเร็จผมก็มาทำต่อมาแก้ไขให้มันดีขึ้น ปัญหาต่างๆ ที่ต้องแก้ไขมากมายบางอย่างท่านก็สร้างเอาไว้
ผมว่าต้องมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำทั้งนักการเมืองทั้งทหาร ทั้งรัฐบาล ทั้ง คสช. วันนี้จากวันนี้เป็นต้นไป จะต้องช่วยกันทำให้ประเทศชาติดีขึ้น ไม่ใช่มาขัดแย้งกันด้วยประชาธิปไตย ลงประชามติเลือกตั้ง นู่นนี่ พูดมา 2 ปีแล้ว ผมก็ยังไม่เห็นท่านพูดอะไรใหม่บ้างเลยว่า ท่าจะทำอะไรเมื่อท่านเข้ามานะ คนเขารอฟังอยู่ ก็ไม่อยากให้ติติงอย่างเดียวกับสิ่งต่างๆ ที่ยังไม่สำเร็จ ที่ผ่านมาท่านอาจจะไม่สนใจมากนัก ปล่อยปะละเลยบ้างอะไรบ้าง หรือไม่อยากจะทำ ไม่คิดจะทำ เหล่านี้มองแล้วว่า ไม่ใช่ “การติเพื่อก่อ” เป็นการแสดงความเห็นที่บริสุทธิ์ใจ เพราะว่ามันมีปัญหาซึ่งทำให้เกิดปัญหา เพราะฉะนั้นจึงมองได้แต่เพียงความเพียรพยายามที่จะทำเรื่องผิดๆให้เป็นถูก ทำถูกให้เป็นผิด โดยอาศัยความไม่รู้เท่าทันของหลายภาคส่วน ทั้งนี้ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ของรัฐบาล และ คสช.ร่วมกับประชาชน ก็คาดหวังกับคำที่กล่าวที่นักการเมืองพูดเสมอว่า “เราจะต้องเป็นประชาธิปไตย”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ท่านก็ช่วยอธิบายว่า ท่านจะเป็นยังไงในประชาธิปไตยของท่าน การมีธรรมาภิบาลของท่านนั้นคืออะไร จะทำอะไรบ้างที่ให้ประชาชน ถ้าทำไปแล้ว รัฐสวัสดิการ จะใช้ใช้จ่ายงบประมาณจากไหน จะหาเงินอย่างไร ระบบเศรษฐกิจท่านจะมีรายได้ประเทศอย่างไร เพราะที่ผมเข้ามามันไม่มีเรื่องพวกนี้ไง มีแต่การใช้จ่ายที่ค่อนข้างจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ถ้าไม่แก้ไขวันนี้ ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านตรงนี้ไม่ช่วยกันก็ไปไม่ได้หมด ประชาชนก็เดือดร้อน
ก็ขอร้องนะครับ ประชาชนต้องเข้าใจว่า เราอ่อนแอ อ่อนแอมา เรารอเขามานานแล้ว วันนี้เรากำลังทำอยู่ 3 ปีเท่านั้นเอง ก็ต้องทำให้สำเร็จนะครับ อยากให้รัฐบาลกับ คสช.และกับประชาชนที่เขาคาดหวัง เขาอยากจะฟังว่าที่ท่านว่าประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตย แต่เพียงอย่างเดียวนั้น โดยไม่พูดเรื่องอื่น ต้องเล่าให้เขาฟังบ้างนะ ผู้คนสับสนอลหม่านหมดเลย ทำประชามติเขาวุ่นไปหมด มันอาจจะทำให้ประเทศไทยไม่มีเสถียรภาพ อย่างที่ต่างประเทศเป็นห่วงกังวล แต่ยืนยันจะรักษาเสถียรภาพให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับท่านด้วยว่าจะทำให้ประชาชนสงบลงได้อย่างไร สื่อโซเชียลมีเดีย ไม่อยากให้ทุกอย่างมันกลายเป็นว่า ผมมาทำให้ท่านขัดแย้งกันมากขึ้นอีก ผมต้องการมาสงบความขัดแย้งแล้วก็แก้ไขปัญหาที่ท่านทำกันไว้ ผมเรียนแล้วว่ามีทั้งดีและปัญหา เพราะฉะนั้นผมไม่อยากกล่าวโทษใครทั้งหมด ท่านจะตำหนิติเตียนอะไรผมก็ยอมรับได้หมดอยู่แล้วแหละไม่เป็นไรผมไม่โกรธหรอกนะ อย่าทำให้สถานการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้นอีกก็แล้วกัน
ที่เกิดขึ้นในปี 57 นั้นแล้วก็มีการปฏิวัติรัฐประหารและทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา ถ้าหากทุกอย่างมันดีอยู่แล้ว ประชาชนมีความสุข มีการบริหารที่โปร่งใส ก็คงไม่มีการประท้วง ไม่มีการขยายการประท้วงให้รุนแรงขึ้น มีภาพความรุนแรงใช้อาวุธสงคราม เกลียดชัง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย จนชัดเจนไปหมด ที่ผ่านมาโดยการสร้างวาทะกรรม เพราะฉะนั้นถ้ามันดีอยู่แล้วใครจะกล้าเข้ามาปฏิวัติ รัฐประหาร ผมว่าประชาชนไม่ยอมหรอกครับ และผมก็ไม่ทำร้ายประชาชนอยู่แล้ว แต่ทำให้มันสงบทำให้ประเทศเข้มแข็ง เพราะฉะนั้นทุกอย่างถ้าใช้วาทะกรรมอย่างเดียวก็ทะเลาะกันไม่เลิก ทุกอย่างต้องมีเหตุมีผลในการทำ ในการกระทำในตัวของมันเองด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อีกประการหนึ่ง ผมขอฝากถึงประชาชน ท่านต้อง “เปิดใจ” ยอมรับ การกำหนดเป้าหมายในชีวิตที่ต้องการ ผมทราบดีว่าประชาชนต้องการมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม มีรายได้ที่สูงขึ้น มีอาชีพที่ดี เป็นหลักเป็นแหล่ง ยั่งยืน และต้องการความมีระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่ท่านก็ต้องพร้อมกับ “ปรับตัว” ยอมรับสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังทำรวมกับเรากันอยู่ ไม่ ว่าจะเรื่องการจัดระเบียบ เรื่องอะไรต่างๆ ที่เคยปล่อยปะละเลยเรื่องกฎหมายมามันต้องกลับเข้าที่เข้าทาง การขายของ ผมรู้ว่าท่านเดือดร้อน แต่จะทำยังไงได้ ถ้าท่านต้องการสิ่งที่เรามองในอนาคตว่าเราต้องเข้มแข็ง บ้านเมืองสะอาดเรียบร้อยมีอาชีพมีรายได้ที่ทั่วถึงเป็นธรรม การประกอบการต่างๆไม่มีการทุจริต
ก็ต้องลำบากกันตอนนี้ ท่านต้องนึกซิครับว่าท่านค้าขายในที่ผิดกฎหมายมันก็นานนะ จนประชาชนเขาคุ้นเคย พอขยับตรงนี้ออกไปประชาชนก็บอกว่าไม่สะดวกสบายอีกแล้ว รถตู้รถอะไรต่างๆ บอกไกลเกินไป ก็ไกลก็ต้องไกล แต่จะต้องมีการให้การบริการในช่วงที่มันผ่านกันนี้จะทำอย่างไร มีรถส่งได้ไหม แยกเป็นรถในพื้นที่ กรุงเทพปริมณฑลกับต่างจังหวัดไกลๆ ได้ไหม มันก็ไปหาทางออกให้ได้ซิ โดยไม่ทำให้กฎหมายเสียหาย
วันนี้ ผมก็ทราบว่าท่านรองนายกรัฐมนตรีประวิตรก็กำลังประชุมหารือกันเรื่องนี้ ได้สั่งการไปในขั้นต้นแล้ว หากว่าทุกคนนั้นต้องการความสะดวกสบายเหมือนเดิม ต้องการความไร้ระเบียบไร้กฎหมายเหมือนเดิม มันไม่มีทางได้สิ่งใหม่ๆ กลับออกมาหรอก เราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงกันบ้าง ยากลำบากแต่มันจะไปสู่ความสะดวกสบายและความมั่นคงในอนาคต สิ่งที่ดีๆ สิ่งใหม่ๆ ที่ทุกคนต้องการกำลังรออยู่ ท่านต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้อย่าขัดแย้งกับเราอีกเลย ขอให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย