วันนี้ (7 ส.ค.2559) ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย การลงประชามติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศรส.ปต.ตร. สรุปผลรายงานการทำผิดกฎหมายการออกเสียงประชามติ พบทั่วประเทศแล้ว 20 กรณีแบ่งเป็นในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 10 คน ตำรวจภูธรภาค 1 จำนวน 2คน ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี, ตำรวจภูธรภาค 2 จำนวน 2 คนใน จ.ชลบุรี ตำรวจภูธรภาค 3 จำนวน 1 คน ใน จ.สุรินทร์ ตำรวจภูธรภาค 5 จำนวน 1คน ในพื้นที่ จ.พะเยา ตำรวจภูธรภาค 6 จำนวน 2 คน ใน จ.นครสรรค์ ตำรวจภูธรภาค 7 จำนวน 1คน ใน จ.กาญจนบุรี และตำรวจภูธรภาค 9 จำนวน 1 คน ใน จ.ตรัง
ทั้งนี้ในพื้นที่ กรุงเทพฯ ตรวจพบการกระทำผิด พ.ร.บ.ประชามติดังนี้
1.เวลา 08.05 น. พื้นที่ สน.ทุ่งครุ มีรายงานพบ นายพิพัฒน์ แพรสุวรรณรักษ์ อายุ 69 ปี ฉีกบัตรออกเสียงประชามติ ในหน่วยออกเสียงประชาอุทิศ 72 ทุ่งครุ ถ.ประชาอุทิศ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ เพราะเข้าใจผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทุ่งครุ คุมตัวสอบสวน บันทึกจับกุม และรอเจ้าหน้าที่ กกต.แจ้งข้อกล่าวหาต่อไป
2.เวลา 08.25 น. สน.ชนะสงคราม หน่วยออกเสียงที่ 3 บ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพฯ หน่วยออกเสียงโรงเรียนวัดใหม่ เกิดความผิดพลาด ของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย บัตรลงคะแนนเกิด ฉีกขาด (ตอนฉีกออกจากต้นขั้วเพื่อให้ประชาชนที่มาลงประชามติ) โดย น.ส.ชวัลพร ยุทธนาประวิต (กรรมการประจำหน่วย) ผู้ทำบัตรลงคะแนนประชามติขาด โดย น.ส.มณีรัตน์ วิเศษสัตย์ (ผอ.ปต.)พิจารณาแล้วเป็นบัตรที่ใช้การไม่ได้ เบื้องต้นได้ลงบันทึกเหตุการณ์ ในอส.11เรียบร้อย
3.เวลา 08.50 น. ผู้ใช้สิทธิ ฉีกบัตรพื้นที่ สน.บางนา กรุงเทพฯ พบเหตุฉีกบัตรออกเสียง 1 ใบ ที่หน่วยออกเสียงโรงเรียนศรีเอี่ยมอนุสรณ์ เขตบางนา กรุงเทพฯ นางมนฤดี อ่ำสกุล อายุ 54 ปี บันทึกจับกุมอยู่ระหว่าง รอ เจ้าหน้าที่ กกต.แจ้งข้อกล่าวหา
4.เวลา 09.30 น. ผู้ใช้สิทธิฉีกบัตร พื้นที่ สน.บางพลัด กรุงเทพฯ หน่วยออกเสียงที่ 30 แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ นายโสภณ ชูติมานนท์ อายุ 75 ปี ฉีกบัตรออกเสียง เพราะเข้าใจผิด บันทึกจับกุมอยู่ระหว่าง รอ เจ้าหน้าที่ กกต.แจ้งข้อกล่าวหา
5.เวลา 10.20 น. ผู้ใช้สิทธิฉีกบัตร พื้นที่ สน.เตาปูน กรุงเทพฯ เหตุกรณีผู้มาออกเสียงประชามติฉีกบัตรออกเสียง ที่หน่วยออกเสียงที่ 33 ร.ร.ผดุงศิษย์พิทยา เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ นางสุพัตรา เกษจรัล อายุ 59 ปี ฉีกบัตรออกเสียง เพราะเข้าใจผิด เจ้าหน้าที่บันทึกจับกุม และรอเจ้าหน้าที่กกต.แจ้งข้อกล่าวหา
6.เวลา 11.00 น. เหตุฉีกบัตรออกเสียงประชามติ พื้นที่สน.บวรมงคล กรุงเทพฯ นายโกมล แย้มโอฐ หน่วยออกเสียงที่ 54 ร.ร.วัดบวรมงคล แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพฯ ฉีกบัตรออกเสียง เพราะเข้าใจผิด หลังจากที่ฉีกบัตร จึงสอบถามเจ้าหน้าที่ประจำหีบดังกล่าวว่า จะต้องดำเนินการอย่างไร เจ้าหน้าที่ประจำหีบจึงให้ไปสอบถามผู้อำนวยการประจำหน่วย ผู้ก่อเหตุจึงเดินถือบัตรที่ฉีกเข้าไปเพื่อสอบถาม ได้รับคำตอบว่า ให้นำบัตรที่ตนฉีกดังกล่าวไปหย่อนลงในหีบตามปกติ โดยบัตรดังกล่าวจะถือเป็นบัตรเสีย จากนั้นจึงเดินไปหย่อนบัตรลงในหีบแล้วออกจาหน่วยไป และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาสอบถาม จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวและแจ้งข้อกล่าวหา บันทึกจับกุมและ รอเจ้าหน้าที่ กกต.แจ้งข้อกล่าวหา
7.เวลา 11.30 น. สน.พระโขนง พบเหตุฉีกบัตรออกเสียงประชามติ 1 ราย คือ นายสมเกียรติ เกรียงไกร อายุ 78 ปี หน่วยออกเสียงที่ 114 ร.ร.วชิรธรรมสาธิต เขตพระโขนง กรุงเทพฯ เพราะเข้าใจผิด เจ้าหน้าที่บันทึกจับกุมและรอเจ้าหน้าที่ กกต.แจ้งข้อกล่าวหา
8.เวลา 11.30 น. นายนภดล รักษาพล อายุ 18 ปี ฉีกบัตรออกเสียง ที่หน่วยออกเสียงที่ 8 หน้าหมู่บ้านคาซาลีน่า 2 ถ.สามวา แขวงทรายกองดิน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ เพราะเข้าใจผิด เจ้าหน้าที่บันทึกจับกุม และรอ เจ้าหน้าที่ กกต.แจ้งข้อกล่าวหา
9.เวลา 11.30 น. น.ส.สมศรี เอกตระกูล อายุ 55 ปี ทำลายบัตรออกเสียง ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 8 ร.ร.สุเหร่าทรายกองดิน (2) แขวงแสนแสบ กรุงเทพฯ เพราะเข้าใจผิด เจ้าหน้าที่จับกุม และรอเจ้าหน้าที่ กกต.แจ้งข้อกล่าวหา
10.เวลา 12.00 น. นายปิยนัฐ จงเทพ นายกสมาคมเพื่อนเพื่อน เข้าไปในหน่วยออกเสียงตะโกนคำว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” พร้อมฉีกบัตรออกเสียงประชามติ เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยจึงได้ควบคุมส่งพนักงานสอบสวนสน.บางนาทำการสอบสวนดำเนินคดีต่อไป
ด้านนายบุญเกียรติ รักชาติเจริญ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า การฉีกบัตรเกิดขึ้นทั้งสิ้นใน 14 จังหวัด รวม 21 หน่วยออกเสียง ได้แก่ นครปฐม ฉะเชิงเทรา พะเยา สมุทรสาคร ปทุมธานี ชลบุรี สุรินทร์ นครสวรรค์ ราชบุรี กรุงเทพฯ กาญจนบุรี อุบลราชธานี เชียงราย ยโสธร
นายบุญเกียรติกล่าวว่า ปัญหาส่วนใหญ่เป็นการฉีกบัตรเป็น 2 ส่วน เนื่องจากในบัตรมีคำถาม 2 คำถาม มี 2 สี แบ่งเป็น 2 ส่วนและเหมือนมีรอยพับตรงกลาง ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ซึ่งศูนย์ประสานงานการออกเสียงได้ส่งโทรสารไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดให้แจ้งไปยังผู้อำนวยการหน่วยเลือกตั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบว่าไม่ต้องฉีกบัตรออกเป็น 2 ส่วน ทั้งนี้ ผู้ที่ฉีกบัตรแล้วไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ถือเป็นการกระทำผิด แต่จะมีการดำเนินคดีหรือไม่อย่างไร ก็อยู่ที่ดุลพินิจของพนักงานสอบสวน แต่การฉีกทำลายบัตรนั้นเป็นการกระทำที่ผิดพระราชบัญญัติประชามติ มาตรา 59 มีโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีของนายปิยรัฐ จงเทพ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกรณีฉีกบัตรโดยเจตนา ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการแสดงออกทางการเมือง และเห็นว่ามีแนวทางต่อสู้คดีที่ทำให้หลุดพ้นจากการลงโทษได้ ซึ่งอาจจะเป็นการเลียนแบบอาจารย์ท่านหนึ่งที่เคยฉีกบัตรเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2549 และศาลชั้นต้นไม่ลงโทษ แต่ในชั้นฎีกานั้นมีการลงโทษ โดยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2555 ศาลอุทธรณ์ ลงโทษจำคุกสองเดือน ปรับ 2,000 บาท และเนื่องจากจำเลยเป็นผู้มีความรู้ความสามารถจึงให้รอลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี และในวันที่ 3 มิ.ย. 2557 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ จึงขอย้ำว่าแนวทางของศาลฎีกานั้นมีการลงโทษผู้กระทำการฉีกบัตรโดยเจตนา จึงไม่อยากให้เข้าใจผิด