ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"โรฮิงญา สินค้ามนุษย์" ตอนที่ 1 : เปิดเส้นทางค้าโรฮิงญา รัฐยะไข่

อาชญากรรม
9 มิ.ย. 58
14:57
501
Logo Thai PBS
"โรฮิงญา สินค้ามนุษย์" ตอนที่ 1 : เปิดเส้นทางค้าโรฮิงญา รัฐยะไข่

ภัยการสู้รบเมื่อสามปีก่อนที่จังหวัดหมองดอร์ ประเทศเมียนมา ระหว่างชาวยะไข่ที่นับถือศาสนาพุทธและชาวโรฮิงญา ทำให้คนทั้งสองกลุ่มอยู่ในฐานะของคนไร้ที่อยู่และไร้อาชีพ โดยเฉพาะชาวโรฮิงญาที่ถูกจำกัดให้ใช้ชีวิตเพียงในค่ายผู้ลี้ภัย ทำให้คนกลุ่มนี้ยอมใช้ร่างกายแลกเงินตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ขณะเดียวกันก็พบข้อมูลว่ามีชาวบังคลาเทศบางคนที่ยากจน เข้ามาอาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยในรัฐยะไข่เพื่อเดินทางมายังประเทศที่สาม

จังหวัดหม่องดอว์เป็น 1 ใน 4 จังหวัดของรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบอย่างรุนระหว่างชาวโรฮิงญาและชาวยะไข่นับถือศาสนาพุทธ ชาวบังคลาเทศบางส่วนเดินทางจากบังคลาเทศเข้ามาที่นี่โดยใช้เส้นทางน้ำ จุดหมายปลายทาง คือ การหลบหนีมายังศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ สถานที่นัดแนะของกลุ่มนายหน้า ที่มักใช้ติดต่อชาวโรฮิงญาและบังคลาเทศ ให้มารวมตัวก่อนอพยพไปหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ชาวรัฐยะไข่ในศูนย์พิกพิงผู้ลี้ภัยเขตรอยต่อประเทศเมียนมาคนหนึ่งให้ข้อมูลกับทีมข่าวไทยพีบีเอสว่า ความอดอยากเกิดขึ้นทั้งกับชาวยะไข่ที่นับถือศาสนาพุทธและชาวโรฮิงญา หมู่บ้านผู้ลี้ภัยของเขาไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา และทุกคนไม่เคยมีงานทำ ไม่มีเงิน และรอเพียงข้าวสาร น้ำมัน และเกลือ ที่บริจาคจากองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งไม่เคยเพียงพอต่อครอบครัวที่ขยายขึ้น ความยากไร้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวยะไข่นับถือศาสนาพุทธและชาวโรฮิงญาอพยพออกนอกประเทศ

ชาวโรฮิงญาในจังหวัดหม่องดอว์บางคน ให้ข้อมูลกับทีมข่าวไทยพีบีเอสว่า เมื่อ 4 - 5 ปีก่อน ชาวโรฮิงญาไม่ใช่แรงงานกลุ่มหลักที่กลุ่มนายหน้าค้ามนุษย์ต้องการ เพราะเป็นแรงงานไร้ฝีมือ จึงเลือกที่จะชักชวนชาวรัฐยะไข่นับถือศาสนาพุทธที่ต้องการหนีภัยสู้รบและไม่อาจดำรงชีวิตในพื้นที่เดิมเนื่องจากบ้านถูกเผา ไปหางานทำในประเทศที่สาม แต่ความต้องการแรงงานที่มากขึ้นในหลายประเทศ ประกอบกับขบวนการค้ามนุษย์ที่เติบโต ทำให้นายหน้าเริ่มหันมาชักชวนชาวโรฮิงญาซึ่งถูกจำกัดสิทธิ์ความเป็นพลเมืองจากรัฐบาลเมียนมาและอยู่ในสภาพอดยาก ให้อพยพไปหางานทำในประเทศที่สาม โดยเฉพาะมาเลเซีย

เมื่อกลุ่มชาวโรฮิงญาและบังคลาเทศในค่ายผู้ลี้ภัยเต็มใจไปตายเอาดาบหน้า และรวบรวมจนครบตามจำนวนที่นายหน้าต้องการ ก็จะทยอยเดินทางผ่านทางเรือเล็กไปยังเกาะต่างๆ หลายเกาะในอ่าวเบงกอล ตามแต่ที่นายหน้าจะนัด จากนั้น เรือที่ใช้ขนย้ายชาวโรฮิงญาจะมารับตามเวลานัดหมาย โดยชาวโรฮิงญาซึ่งไม่มีเงินจ่ายให้นายหน้าจะต้องใช้ร่างกายแลกเงินนั้น กล่าวคือ นายหน้าซึ่งเป็นชาวเมียนมาที่ติดต่อจะขายชาวโรฮิงญาทั้งหมด ให้นายหน้าที่เดินทางมารับชาวโรฮิงญา คนละประมาณ 5000 บาท หลังจากนั้นนายหน้าที่นำชาวโรฮิงญาขนผ่านทางเรือประมาณ 10 วัน ก็จะนำชาวโรฮิงญาไปขายต่อให้นายหน้าฝั่งไทย ในราคาเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ก่อนจะใช้เส้นทางรถยนต์ขนชาวโรฮิงญามาแวะพักที่เทือกเขาแก้ว อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และขายต่อให้นายหน้าชาวมาเลเซียอีกทอดหนึ่ง เพื่อกระจายให้เจ้าของธุรกิจที่ต้องการใช้แรงงานผิดกฎหมาย โดยชาวโรฮิงญาจะต้องทำงานแลกหนี้ที่ซื้อมาเบ็ดเสร็จไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 บาทต่อคน และแม้ว่าบางคนจะทำงานแลกเงินได้จนครบตามจำนวนหนี้ แต่ก็มีส่วนน้อยที่ได้รับอิสระอย่างแท้จริง ทำให้พวกเขามีสภาพไม่ต่างจาก "สินค้ามนุษย์"

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง