วานนี้ (17 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า ที่ว่าการอำเภอจะนะ จ.สงขลา กลุ่มรักษ์ถิ่นเกิดตำบลคู อ.จะนะ จ.สงขลา ครูและนักเรียนในพื้นที่ตำบลคูอ.จะนะจ.สงขลา เข้ายื่นหนังสือต่อนายอำเภอจะนะ เพื่อเรียกร้องให้หยุดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลโรงที่2 ขนาด 25 เมกกะวัตต์ ของบริษัทจะนะกรีนจำกัด ที่จะมีการสร้างในพื้นที่ตำบลคู อ.จะนะ จ.สงขลา
กำนันสุเดช หลีเหร็ม กล่าวว่า เนื่องด้วยมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังผลิต 25 เมกกะวัตต์ กำลังดำเนินการก่อสร้างขึ้นในพื้นที่ หมู่ 3 ต.คู อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชุมชนในเขตรัสมี 5 กิโลเมตร ประกอบด้วย หมู่บ้าน 34 หมู่บ้าน มัสยิด 12 แห่ง โรงเรียน 8 โรง วัด 3 แห่ง ใน 8 ตำบล ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัญหาก่อนเริ่มโครงการความแตกแยก
ปัญหาความแตกแยกของชุมชนและสังคม ปัจจุบันนี้แม้ว่าโครงการยังอยู่ในระยะเริ่มต้นก็ตาม แต่ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชน ทำให้เกิดความแตกแยกทั้งในระดับผู้นำชุมชนกับผู้นำชุมชน กำนัน–ผู้ใหญ่บ้าน, อบต.กับ อบต.ผู้นำศาสนา ชาวบ้านกับผู้นำ และหรือชาวบ้านกับชาวบ้าน ประชาชนในพื้นที่จะถูกแยกออกจากกัน เพื่อเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยทำให้ชุมชนอ่อนแอ แยกกันเพื่อเข้าไปจัดการง่ายขึ้น มีการกล่าวกันบ่อยว่า น่าจะใช้ผลประโยชน์มาเป็นแรงจูงใจ เป็นหนึ่งในเครื่องมือของโรงไฟฟ้า สังคมในพื้นที่มีความรัก ความสมัครสมาน สามัคคีเป็นอย่างดีแต่สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นแค่เพียงประวัติศาสตร์เท่านั้น หากมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้น ปัญหาความแตกแยกจะไม่สามารถแก้ไขได้นับแต่นับวันที่จะมีเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้น
ผู้ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าอ้างประเด็นความมั่นคงของพลังงาน
นายสุเดช กล่าวต่อว่า การใช้ไฟฟ้าของจังหวัดสงขลา ปัจจุบันสงขลาใช้ไฟฟ้าเพียง 450 เมกกะวัตต์ แต่โรงไฟฟ้าจะนะ สามารถผลิตไฟฟ้าถึง 1460 เมกกะวัตต์ ถือว่าเกินความจำเป็นในการที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก หรือว่าสร้างขึ้นเพื่อรองรับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งขนาดใหญ่ขนาดเล็ก โดยกำหนดให้พื้นที่นี้ เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม เป็นนิคมอุตสาหกรรม หากเป็นเช่นนั้นก็จะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง ทำให้คนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ แล้วจะเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมากมาย
ในความเป็นจริงพื้นที่ส่วนนี้น่าจะเพียงพอแล้วในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติ เพราะทั้งป่า เขา แม่น้ำ ทุ่งนา และประชากรส่วนมากในพื้นที่มีอาชีพเกษตรกรรม ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อมีโรงไฟฟ้าคือ
ปัญหาน้ำ
ปัญหาน้ำเสีย ซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานไฟฟ้าที่จะมีการปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติที่อยู่ด้านหลังโรงงานคือแม่น้ำสะกอมที่ไหลมาจากอำเภอนาทวีลงสู่ทะเลอ่าวไทยที่ปากบางสะกอม ในอดีตเป็นแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์มีสัตว์หลายชนิด ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา เป็นสายน้ำที่สามารถหล่อเลี้ยงประชาชนหลายชุมชน สายน้ำคลองปาบ ซึ่งในอดีตก็มีความอุดมสมบูรณ์เช่นเดียวกันเช่นกัน สายน้ำคลองปาบจะไหลลงคลองโพธิ์มาลงสู่ทะเลอ่าวไทยที่ปากบางนาทับ เมื่อน้ำเสียได้ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในตำบลคู ท่าหมอไทร บ้านนา และตำบลสะกอมที่มีการจับสัตว์น้ำเป็นอาชีพเสริมสร้าง สร้างรายได้ให้กับครอบครัว
ปัญหาชุมชนจะขาดน้ำสะอาด
ชุมชนจะขาดน้ำที่สะอาด เพราะโรงไฟฟ้าจะใช้น้ำปริมาณมากในกระบวรการผลิต จึงต้องเก็บน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอ โดยการขุดบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทำให้น้ำใต้ดินจะแห้ง ส่งผลกระทบต่ออาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ของประชาชนในต.คู ต.ท่าหมอไทร ต.บ้านนา และต.นาหว้า และทำให้น้ำกินน้ำใช้ในครัวเรือนในครัวเรือนไม่เพียงพอโดยเฉพาะในฤดูแล้ง พี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ติดกับโรงไฟฟ้าเช่น บ้านนายำ หมู่ 3 ต.คู จำนวน 928 คน บ้านพ้อแดงหมู่ 2 ต.คู จำนวน 1209 คน บ้านปลักพ้อ หมู่ 9 ต.คู 588 คน บ้านแพร้ว หมู่ 8ต.ท่าไหมอไทร จำนวน 283 คน โรงเรียนบ้านโหนด จำนวนนักเรียน 90 คน โรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ จำนวน 730 คน ก็จะได้รับความเดือนร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัญหาน้ำท่วม
ปัญหาน้ำท่วม บริเวณพื้นที่โครงการ เป็นพื้นที่ลุ่ม เป็นแก้มลิง ที่รองรับมวลน้ำขนาดใหญ่จากอ.นาทวี การก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าจะต้องถมดินให้สูงน่าจะไม่ต่ำกว่า 2 เมตรหรือ 3 เมตร ซึ่งทำให้พื้นที่ส่วนนี้หมดไป เมื่อถึงฤดูฝน จะทำให้มวลน้ำที่ไหลมาจาก อ.นาทวี เพื่อลงสู่ทะเลไม่มีที่รองรับ จึงเกิดปัญหาทำให้น้ำท่วมพื้นที่ต.คู ต.แค ต.น้ำขาว ต.ขุนตัดหวาย คลอบคลุมพื้นที่ที่กว้างและนานกว่าเดิม จะมีน้ำท่วมขังในระยะเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านนายำ หมู่ 3 หมู่ 4 ต.คู เพราะเป็นหมู่บ้านที่มีสภาพเป็นที่ลุ่ม อยู่ทางด้านทิตใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ด้านบนของโครงการโรงไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเรือกสวน ไร่นา บ้านเรือน อย่างมหาศาล
ปัญหาเสียงดัง
นอกจากนี้นายสุเดช กล่าวถึงปัญหาเริ่มต้นคือปัญหาเสียงดังว่า ในการทำงานโรงงานไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนและการเรียนการสอนของโรงเรียนในพื้นที่ ทั้งหมด 8 โรง และมีโรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ ซึ่งเป็น “โรงเรียนหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนในฝัน” ร่วมอยู่ด้วย เป็นโรงเรียนที่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้เสียสละที่ดินคนละ 5 ไร่ จำนวน 4 คน และระดมเงินด้วยวิธีการเลี้ยงน้ำชา เก็บข้าวเปลือก แข่งขันนกเขาชวาเสียง และแข่งขันชกมวย เป็นต้นเพื่อซื้อที่ดินเพิ่มและรัฐบาลให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณ ในการก่อสร้าง งบประมาณพัฒนากระบวนการเรียนการสอน ค้าจ้างบุคลากร ผ่านมา 30 กว่าปี ใช้งบประมาณไปแล้วจำนวนมหาศาล หากโครงการโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณที่ลงทุนไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ในที่สุดโรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ก็จะกลายสภาพเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีแต่อาคารแต่ไม่มีมีนักเรียน เหมือนโรงเรียนจะนะวิทยา ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานบริเวณนั้น
ปัญหาฝุ่นละอองขี้เถ้าของโรงไฟฟ้า
ในกระบวนการของโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้น จะมีฝุ่นละอองขี้เถ้าที่ของเสีย ที่ถูกปล่อยออกมาซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน อาจจะทำให้เกิดโรคเกี่ยวระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ และอื่นๆ ตามมา ทำให้รัฐต้องสูญเสียและจะต้องเพิ่มงบประมาณในการรักษาสุขภาพของประชาชนมากขึ้นในกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้านั้นมีฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 นั้น ปะปนอยู่ด้วย เมื่อเข้าสู่ปอด ผ่านสู่กระแสเลือด จะนำสารก่อมะเร็งเข้าไปสะสมในอวัยวะต่างๆ สะสมที่อวัยวะส่วนไหน นานเข้าจะเป็นมะเร็งในส่วนนั้น หนังสือทุกเล่มจะเขียนเหมือนกันว่า ฝุ่น PM 2.5 นั้นเกิดจากการเผ่าไหม้ถ่านหิน น้ำมัน โมเลกุลของกาซซัลเฟอร์ไดออกไซน์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซน์ และการเผาไหม้จากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลและชีวมวล
ปัญหาเศรษฐกิจของชุมชน
พื้นโดยรอบโครงการเป็นพื้นที่ทางการเกษตร ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม อาศัยน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และน้ำชลประทานได้บางเวลา ถ้าหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าทางโรงไฟฟ้าก็จะจัดเก็บน้ำไว้จากน้ำแม่น้ำลำคลองโดยเฉพาะแม่น้ำสายหลักคือแม่น้ำสะกอม และส่วนหนึ่งก็เป็นน้ำใต้ดิน ต่อไปน้ำใต้ดินจะเกิดการขาด ก็จะส่งผลกระทบต่ออาชีพเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันจะทำให้เกิดปัญหาต่อเกษตรกรที่ทำให้พืชพลทางการเกษตราเสียหาย รายได้ตกต่ำ
ปัญหาความร้อนในอากาศ
ความร้อนที่เกิดจากกระบวนการผลิตออกสู่ข้างนอก ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชานชนที่ทำสวนยาง ทำให้หน้ายางแห้งเร็วขึ้น น้ำยางปริมาณจะน้องลง จากปัญหาที่กล่าวมาข้างตน พี่น้องประชาชนในพื้นที่จึงขอคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล จะนะ กรีน ของบริษัท จะนะ กรีน จำกัด
ด้านนายอำนวย สังข์ราชกิจ ผู้อำนวยการโรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ กล่าวว่า ทางโรงเรียนและชุมชนมีความกังวลเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างมาก
“ที่ผ่านมาโรงงานเป็นตัวแปรสำคัญ ที่มีผลต่อนักเรียน บทเรียนของโรงเรียนจะนะวิทยา ก็เห็นได้ชัดเจนเรื่องผลกระทบจากโรงงานน้ำยางที่ส่งกลิ่นเหม็น ที่ผ่านมาโรงงานไม่เคยทำตามข้อตกลง ไม่มีหน่วยงานไหนออกมารับผิดชอบ หรือจัดการแก้ปัญหา”
ขณะนี้ได้มีการเริ่มทำประชาพิจารณ์ในหมู่บ้านใกล้เคียง แต่ในพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าไม่มีการจัดทำเวทีหรือชี้แจงข้อมูลอะไร
โรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์อยู่ห่างจากพื้นที่ของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพียง 100 เมตร เปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ปัจจุบันมีนักเรียน 730 คน บุคลากรทั้งหมด 61 คน ให้บริการไปถึง อ.นาทวี เทพา นาหม่อม จึงนับเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพแห่งหนึ่งในจ.สงขลา
โรงเรียนบ้านโหนด ตั้งอยู่ติดกับโรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 ถึง ประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน จำนวน 90 คน สิ่งสำคัญคือ จะส่งผลกระทบกับสุขภาพของเด็กนักเรียนในระยะเวลาที่เร็วมาก เพราะโรงเรียนอยู่ติดกับโรงไฟฟ้า จะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำลง ขาดคุณภาพ
นายหะสันอัสอารี หัดโดย โต๊ะอิหม่ามบ้านนายำ ต.คู กล่าวว่า “ผมมีความกังวลเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน หากมีโรงไฟฟ้าที่เกิดขึ้นการประกอบอาชีพก็จะยากลำบากขึ้น และที่สำคัญจะมีผลกระทบด้านศาสนา เนื่องจากพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าอยู่ห่างจากกุโบร์ไม่เกิน 500 เมตร เมื่อมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก็จะมีการถมที่และน้ำเหล่านั้นก็จะท่วมขังกุโบร์ซึ่งเป็นที่ฝังศพของบรรพบุรุษ และจะไม่มีที่ฝังศพอีก
ด้านนายสุรินทร์ สุริยะวงศ์ นายอำเภอจะนะ กล่าวว่า ทางอำเภอจะส่งหนังสือไปทางจังหวัด เพื่อให้ทางจังหวัดส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นพลังงานจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อได้ข้อชี้แจงมาแล้วจะส่งหนังสือกลับมายังกลุ่ม และทางอำเภอจะส่งหนังสือไปยังบริษัทเจ้าของโครงการเพื่อให้ทราบถึงข้อห่วงกังวลของชุมชน
วันชัย พุทธทอง รายงาน