หนึ่งในการเตรียมการของภาครัฐคือตั้งกองทุนบำเหน็ญบำนาญภาคบังคับรับมือสังคมสูงอายุ สัปดาห์หน้าสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์หน้า
ในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ปี 2559 ซึ่งจัดขึ้นวันนี้ (18 ส.ค.2559) มีกาารรายงานว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2549 และจะสมบูรณ์แบบ ในปี 2568 ทำให้ทีมเศรษฐกรวิจัยหาแนวทางรับมือ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้าเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อลดภาระการคลังในการดำเนินโครงการจ่ายเงินอุดหนุนดูแลประชากรวัยเกษียณ คาดบังคับใช้ในปี 2561
ในเฟสแรก กฎหมายนี้จะกำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป จ่ายเงินสมทบลูกจ้างฝ่ายละไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ใน 3 ปีแรก และจะเพิ่มเรื่อยๆ แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินค่าจ้าง ตามเงื่อนไข พร้อมกับทยอยลดขนาดสถานประกอบการลงมาที่ต้องมีกองทุนดังกล่าวหลังกฎหมายบังคับใช้ปีที่ 4 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ คณะวิจัยเสนอให้รัฐบาล จ่ายเงินอุดหนุนแก่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย เพื่อให้มีการออมเพื่อการศึกษา ซึ่งจะลดภาระงบประมาณ จากปัญหาผิดนัดชำระกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยผลการศึกษาระบุว่า รัฐควรจ่ายเงินสมทบครัวเรือนที่มีเด็ก อายุระหว่าง 0-15 ปี ในอัตราสูงสุดไม่เกินเดือนละ 400 บาท โดยมีสัดส่วนสมทบที่แตกต่างกันไปตามช่วงวัยตั้งแต่ร้อยละ25 จนถึงเต็มจำนวนการออมของครัวเรือนคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 5 พันล้านบาท ภายใต้สมมติฐานมีผู้เข้าร่วมโครงการ 1 แสนคน
นายกฤษณะ จีนะวิจารณะ ผู้อำนวย สศค.กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าว ต้องนำหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอระดับนโยบายพิจารณาต่อไป