น้ำที่ไหลมาจาก จ.สุโขทัย ท่วมพื้นที่นาข้าวใน ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม จ.พิจิตร เป็นบริเวณกว้าง ทำให้ชาวนาต้องว่าจ้างรถให้เร่งเกี่ยวข้าวเพื่อนำไปขายแม้ข้าวจะยังไม่โตเต็มที่ มิฉะนั้นข้าวจะเสียหายทั้งหมด
ที่ จ.สุโขทัย ระดับน้ำในแม่น้ำยมที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยลดลงต่อเนื่องหลังฝนหยุดตก เจ้าหน้าที่คาดว่าหากไม่มีน้ำเหนือไหลมาสมทบ สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วันและไม่เข้าท่วมในเขตเศรษฐกิจอย่างแน่นอน
ที่ จ.ลำปาง ภายหลังสะพานข้ามแม่น้ำวัง ที่บ้านแม่สุกวังเหนือ ต.วังซ้าย อ.วังเหนือ ถูกน้ำป่าซัดพังถล่ม ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องใช้ทางอ้อมซึ่งไกลกว่า 10 กิโลเมตร โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่รอให้ระดับน้ำในแม่น้ำลดลงก่อนจะเข้าซ่อมแซมเพื่อให้กลับมาใช้งานได้โดยเร็ว
ขณะที่ จ.เชียงราย น้ำที่ท่วมใน ต.ท่าสุด อ.เมือง ได้ลดลงแล้ว เจ้าหน้าที่เร่งให้การช่วยเหลือชาวบ้านและสำรวจความเสียหาย สำหรับฝนที่ยังตกในหลายพื้นที่ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายจังหวัดภาคเหนือยังคงเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยให้มิสเตอร์เตือนภัยและผู้นำหมู่บ้านคอยแจ้งเตือนหากระดับน้ำวิกฤติให้อพยพชาวบ้านไปอยู่ในที่ปลอดภัยทันที
ส่วนสถานการณ์น้ำในภาคอีสาน อย่างที่ จ.หนองคาย ระดับน้ำในแม่น้ำโขงในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย เช้าวันนี้ (21 ส.ค.2559) อยู่ที่ 10 เมตร 78 เซนติเมตร เพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 10 เซนติเมตร ซึ่งต่ำกว่าจุดแจ้งเพียง 22 เซนติเมตรเท่านั้น หลังได้รับจากอิทธิพลจากพายุเตี๋ยนหมู่ ส่งผลให้ระดับน้ำโขงสูงขึ้นต่อเนื่อง
ล่าสุดอุทกวิทยาหนองคาย แจ้งเตือนไปยังสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.หนองคาย และ จ.บึงกาฬ ให้ติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
เช่นเดียวกับที่ จ.อุบลราชธานี แม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม ยังปรับตัวสูงขึ้นตลอดสัปดาห์ โดยระดับน้ำเช้าวันนี้สูง 10 เมตร 32 เซนติเมตร ระดับน้ำที่สูงขึ้นทำให้ชาวประมงต้องใช้ความระวังในการนำเรือออกหาปลา เพราะกระแสน้ำไหลเชี่ยว
ส่วนที่เขื่อนหัวนา ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เจ้าหน้าที่ต้องยกประตูระบายน้ำเขื่อนทั้ง 14 บานเพื่อพร่องน้ำ สำหรับรับปริมาณน้ำเหนือจาก จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นต้นน้ำของลำน้ำมูล หลังพบว่ามีปริมาณไหลเข้าเขื่อนต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์
สำหรับภาคใต้ คลื่นลมแรงจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ทำให้น้ำทะเลหนุนสูงเข้าท่วมบ้านเรือน หมู่ 3 ต.เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา น้ำทะเลได้กัดเซาะบ้านเรือนจากใต้พื้นจนพื้นบ้านแตกร้าว ผนังบ้านเริ่มทรุดตัว ชาวบ้านเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางแก้ปัญหา
เบื้องต้น นายจักษุ ลิ่มพานิช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะคอเขา พร้อมเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาตะกั่วป่า ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย พร้อมเตรียมทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาความเดือดของชาวบ้านเพื่อส่งให้ จ.พังงา พิจารณางบประมาณเพื่อสร้างแนวเขื่อนกั้นคลื่นต่อไป