แม้พรรคประชาธิปัตย์จะเคยแถลงตัดขาดความสัมพันธ์และความรับผิดชอบต่อการบริหารงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม 2559 ซึ่งถูกมองว่า ไม่ต่างกับการแถลงมติขับออกจากพรรค ในสถานการณ์การเมืองที่ไม่สามารถเรียกประชุมพรรคได้ ด้วยข้อห้ามตามคำสั่ง คสช.
"การบริหารงานของกรุงเทพมหานครจากนี้ไป ถือเป็นการดำเนินงานโดยเอกเทศ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่สามารถใช้ระบบและกลไกพรรคในการสนับสนุน ติดตาม ตรวจสอบการทำงานของกรุงเทพมหานคร ได้ และขอกราบขอโทษพี่้น้องประชาชนชาวกรุงเทพมหานครมา ณ โอกาสนี้" นี่เป็นสิ่งที่นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
ตามด้วยคำยืนยันอีกครั้งจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้ถึงสัมพันธ์ที่ "ลาขาด" ซึ่งนอกจากจะเกิดจากปัญหาความไม่ชอบมาพากลในการบริหารงานที่ถูกทั้ง สตง.และ ป.ป.ช.ตรวจสอบแล้ว ยังเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการแตกแยกภายในพรรคประชาธิปัตย์ ถึงขั้นเตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อเป็นอีกทางเลือกใหม่ทั้งในสนามเลือกตั้งใหญ่ และสนามกรุงเทพมหานคร
โดยเฉพาะในภาวะที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังถูกจับจ้อง หลังผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาสวนทางกับท่าทีของหัวหน้าพรรค ที่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หากต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามการหมดวาระของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในเดือนมีนาคม 2560 แม้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะชนะการเลือกตั้งมาด้วยคะแนนกว่า 1 ล้าน 2 แสนคะแนนก็ตามซึ่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยอมรับว่าพรรคพร้อมน้อมรับการตัดสินใจของประชาชน ต่ออนาคตของพรรค
มีรายงานว่า พรรคประชาธิปัตย์ เริ่มทาบทามบุคคลเพื่อเข้ามาเป็นผู้สมัครผู้ว่า กทม.ในนามของพรรคบางส่วนแล้ว ซึ่งทีมงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่กับผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ จนกระทั่งถูกคำสั่งหัวหน้า คสช.พักการปฏิบัติหน้าที่ แม้จะเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ ก็อาจไม่ใช่ตัวเลือกหรือทีมงานของว่าที่ผู้สมัครผู้ว่า กทม.คนต่อไปก็เป็นได้