ท้ายที่สุด คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ตีความคำถามพ่วง "เห็นควรให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี" ด้วยการร่วมลงมติเท่านั้น ไม่ว่าจะเลือกตามบทถาวร หรือเลือกตามบทเฉพาะกาล เพราะเหตุผลที่จะให้ ส.ส.หรือพรรคการเมืองรับผิดต่อการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
และแม้จะยอมรับในมติของ กรธ. แต่ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะและรวบรวมความเห็น เพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยความเห็นต่างได้ พร้อมย้ำว่าควรให้ ส.ว.ร่วมเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ เพราะเจตนาของคำถามพ่วงคือการสร้างกลไกเพื่อรองรับเหตุวิกฤตการเมือง
ตามข้อบัญญัติตามมาตรา 37/1 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 กำหนดให้ กรธ.ต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการปรับแก้เพื่อให้สอดรับกับคำถามพ่วงแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ
และในมาตราเดียวกันนั้น ตั้งกรอบเวลาการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไว้ 30 วัน นับแต่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจาก กรธ. ทั้งนี้ยังให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตีกลับร่างรัฐธรรมนูญไปยัง กรธ.เพื่อปรับแก้ตามดุพินิจใน 15 วัน นับแต่วันที่มีคำวินิจฉัยฉัย หากชี้ว่า เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ
และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อยืนยันถึงกระบวนการวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีนี้ว่าจะต้องนัดไต่สวนหรือขอเอกสารเพิ่มเติมจากฝ่ายใดเพื่อประกอบการพิจารณาหรือไม่ แต่ สนช.แสดงความพร้อมที่จะจัดทำเอกสารเพื่อส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
ขณะที่ กรธ.แสดงความเชื่อมั่นว่าการปรับแก้เป็นไปตามเจตนาและตัวอักษรในคำถามพ่วง ดังนั้นนับแต่สิ้นเดือนสิงหาคม 2559 ที่ กรธ.จะส่งร่างรัฐธรรมนูญ ก็คาดการณ์ว่าสิ้นเดือนกันยายน 2559 จะรู้ผลการชี้ขาดความเห็นต่างที่เกิดขึ้นนี้ได้