ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ "ตัวแปร-อุปสรรค" เจรจาสันติภาพปางโหลง

ต่างประเทศ
31 ส.ค. 59
20:42
531
Logo Thai PBS
ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ "ตัวแปร-อุปสรรค" เจรจาสันติภาพปางโหลง
นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาชี้ปัญหาและอุปสรรคในการเจรจาสันติภาพปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เริ่มขึ้นแล้วในวันนี้ที่กรุงเนปิดอว์ แต่ก็เห็นพ้องต้องกันว่า การจัดการเจรจาในครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อการสร้างสันติภาพขึ้นในประเทศ

เมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศมากกว่า 100 กลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ถูกกดขี่โดยรัฐบาลทหาร ขณะที่บางกลุ่มจับอาวุธสู้รบกับกองทัพเมียนมามานานหลายสิบปี

ที่ผ่านมาปัญหาความขัดแย้งภายในเมียนมามีความซับซ้อนจนทำให้การสร้างความปรองดองภายในชาติเป็นไปได้ยาก ซึ่งรัฐบาลกึ่งพลเรือนชุดที่แล้วภายใต้การนำของ พล.อ.เต็ง เส่ง เริ่มมีทิศทางที่เป็นรูปธรรมในการเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธมากขึ้น จนกระทั่งในรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ได้สานต่อและนำไปสู่การเจรจาสันติภาพปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21 ขึ้น

นายแลร์รี จากัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมามองว่า การเจรจาครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติความขัดแย้งรุนแรงที่ดำเนินมายาวนานมากกว่า 60 ปี โดยนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน และถือเป็นครั้งแรกที่กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธเกือบครบทุกกลุ่ม ทั้งที่ลงนามข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลไปแล้ว และกลุ่มที่ยังไม่ได้ลงนาม เข้าร่วมการเจรจาพร้อมกัน

นายจากัน ระบุว่าอุปสรรคสำคัญต่อการเจรจาในครั้งนี้ คงหนีไม่พ้นความไม่แน่ใจของกลุ่มชาติพันธุ์ถึงท่าทีของนางซู จี และกองทัพ รวมทั้งความต้องการที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกันเอง โดยเฉพาะปัญหาความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ซึ่งเป็นเหตุให้กองทัพเรียกร้องให้กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มที่ยังสู้รบกับกองทัพปลดอาวุธก่อนเข้าร่วมการเจรจา
โดยกลุ่มที่น่าจับตามองในครั้งนี้คือ กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (กลุ่มโกก้าง) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอางและกองทัพอาระกัน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธที่ยังคงต่อสู้กับฝ่ายกองทัพมาจนถึงปัจจุบัน และไม่ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา (2558) ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถมีส่วนร่วมในการเจรจาครั้งนี้ได้อย่างเต็มที่

ด้าน ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นว่า การเจรจาครั้งนี้มีความสำคัญในระยะเปลี่ยนผ่านของเมียนมา ซึ่งเปรียบเสมือนการกรุยทางเพื่อสร้างสหพันธรัฐนิยม ซึ่งรวมไปถึงการจัดสรรทรัพยากรและกิจกรรมทางการทหาร

ขณะที่ นายออง ทุน นักวิจัยอิสระชาวเมียนมา ซึ่งทำงานด้านการจัดการความขัดแย้งและการเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา มีความเห็นสอดคล้องกับอาจารย์ดุลยภาคเกี่ยวกับความสำคัญของท่าทีกองทัพในการเจรจาพร้อมทั้งระบุว่า การเจรจาสันติภาพมีความซับซ้อน เนื่องจากมีประเด็นที่จำเป็นต้องหารือกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่ม

การเจรจาในครั้งนี้จะจัดขึ้นนาน 5 วัน โดยจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,600 คน จากกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธที่เข้าร่วมการประชุม 17 กลุ่ม จาก 20 กลุ่ม พรรคการเมืองที่มีที่นั่งในรัฐสภามากกว่า 20 พรรค ตัวแทนรัฐบาล กองทัพ และผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติ ซึ่งรวมถึง นายบัน คี-มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ

แม้ว่าหลายฝ่ายคาดว่าจะยังไม่เห็นผลสำเร็จในการเจรจาสันติภาพปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21 ได้ในเร็วๆ นี้ แต่การเจรจาที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในวันนี้ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการเปิดประตูสู่สันติภาพที่ยั่งยืนในเมียนมาในอนาคต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง