การโฆษณาขายวิตามินแบบแท่ง หรือ วิตต้าสติ๊ก ที่แพร่หลายทางในสื่อสังคมออนไลน์ และเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งมีการอวดอ้างสรรพคุณ เช่นเพียงสูบก็สวยได้ หรือสูบแล้วได้รับวิตามินอย่างเต็มที่ โดยเริ่มมีผู้สนใจสอบถามถึงราคาและช่องทางการซื้อ-ขายอย่างต่อเนื่อง
นพ.กิติพงศ์ สุนทราภา อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.มหิดล อธิบายว่า ร่างกายของมนุษย์สามารถดูดซึมสารอาหารรวมถึงวิตามินได้ดีด้วยการกิน การใช้วิธีสูบวิตามินเข้าสู่ปอดจึงอาจไม่ได้ประโยชน์จากวิตามินตามที่กล่าวอ้าง และแม้ว่าจะไม่มีสารนิโคตินหรือทาร์ผสมอยู่ก็เป็นอันตรายต่อร่างกายอยู่ดี
นอกจากนี้ปริมาณวิตามินที่ระบุไว้ในวิตามินแบบแท่งยี่ห้อหนึ่ง อาทิ วิตามินซี มีปริมาณเพียง 1,000 ไมโครกรัมหรือเท่ากับ 1 มิลลิกรัมเท่านั้นซึ่งน้อยมาก หากเทียบกับวิตามินซีแบบเม็ดที่ 500-1,000 มิลลิกรัม ทั้งนี้เห็นว่าการใช้รูปแบบสูบเป็นการดึงดูดและอาจทำให้เยาวชนคุ้นชินกับการสูบ และอยากลองการสูบบุหรี่จริงในเวลาต่อมา
การขายวิตามินแบบแท่งสำหรับสูบ อาจเข้าข่ายการกระทำผิด ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า ในมาตรา 36 กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในข้อ 1 ที่ระบุว่า อุปกรณ์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ที่ทำให้เกิดแหล่งกำเนิดควัน ละอองไอน้ำ หรือไอระเหย ในลักษณะคล้ายควันบุหรี่ ไม่ว่าจะกระทำขึ้นด้วยวัตถุใดซึ่งใช้สำหรับสูบ ในลักษณะเดียวกับการสูบ ผู้ขายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ส่งตรวจสอบส่วนประกอบของสารต่างๆ ต่อไป