การเจรจาสันติภาพปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2559 ในกรุงเนปิดอว์ของเมียนมา กำลังเป็นที่จับตามองจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก เนื่องจากถือเป็นการเจรจาที่เปิดโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธเกือบทุกกลุ่มในเมียนมา ไม่ว่าจะลงนามข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลไปแล้วหรือไม่ก็ตาม สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการหารือเพื่อบรรลุข้อตกลงในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนของประเทศ
ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ระบุว่า การเจรจาครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ของเมียนมา ไม่ว่าผลจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม เนื่องจากมีการเปิดพื้นที่ให้มีการเจรจากันได้อย่างสันติ
ขณะที่แลร์รี่ จากัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมา เชื่อว่าผลของการเจรจาในครั้งนี้น่าจะเป็นไปในทิศทางบวกและสร้างให้เกิดสันติภาพได้ในที่สุด โดยนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ มีบทบาทสำคัญในฐานะตัวกลางที่ช่วยให้กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธที่ยังไม่ได้ลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ เมื่อเดือนตุลาคม 2558 ตัดสินใจเข้าร่วมการเจรจาและลงนามในข้อตกลงหยุดยิงดังกล่าว
จากัน ระบุอีกว่าหนึ่งในเหตุผลที่นางซู จี เดินทางเยือนจีนเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2559 เนื่องจากต้องการขอให้จีนช่วยกดดันกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธที่อยู่ใกล้กับจีนและกำลังต่อสู้กับกองทัพเมียนมาให้วางอาวุธ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจาเพื่อลงนามข้อตกลงหยุดยิง อันจะนำไปสู่เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้มีอำนาจต่อรองและสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจาสันติภาพได้อย่างเต็มที่
สอดคล้องกับความเห็นของออง ทุน นักวิจัยอิสระชาวเมียนมา ที่ทำงานด้านการจัดการความขัดแย้งและการเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มองว่าการเยือนจีนของนางซู จี ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญและเป็นข้อยืนยันชัดเจนถึงบทบาทของจีนที่มีอิทธิพลต่อการแก้ไขความขัดแย้งในเมียนมา ขณะเดียวกัน ออง ทุน ก็แสดงความกังวลว่าแม้ว่าแต่ละฝ่ายอาจจะบรรลุข้อตกลงอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน แต่ความท้าทายหลัก คือการปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้มีการลงนามร่วมกันว่าจะสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด
ไม่ว่าผลการเจรจาสันติภาพในครั้งนี้จะออกมาในรูปแบบใด แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธีผ่านการเจรจาร่วมกับทุกฝ่าย ทั้งในช่วงการเตรียมการหารือและการเจรจาคู่ขนานที่กำลังจะเกิดขึ้น