ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"คนกู้ระเบิด" ชีวิตบนเส้นด้าย ตร.เสริมทักษะ-เพิ่มความรู้ ลดความเสี่ยง

อาชญากรรม
7 ก.ย. 59
16:38
2,688
Logo Thai PBS
"คนกู้ระเบิด" ชีวิตบนเส้นด้าย ตร.เสริมทักษะ-เพิ่มความรู้ ลดความเสี่ยง

การเก็บกู้วัตถุระเบิดเป็นภารกิจที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นหรือปัจจัยแทรกซ้อนอื่นๆมาเกี่ยวข้องก็อาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าเศร้าและนำมาซึ่งการบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิต และเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ที่รูปแบบการก่อเหตุระเบิดที่ปรากฎในหลายพื้นที่มากขึ้นทั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่เก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิดจึงจำเป็นต้องเพิ่มพูนความรู้ทักษะ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อรับมือกับการก่อเหตุที่ซับซ้อนและมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบที่หลากหลายและรุนแรงมากขึ้น

เพิ่มทักษะ EOD - จนท.ขาดแคลนหนัก

พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ ผู้กำกับการกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (EOD) กล่าวว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการ RAVERNS ASEAN CHALLENGE 2016 ครั้งนี้จัดเพื่อเสริมทักษะความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่อีโอดีจากทั้งหน่วยของทหาร ตำรวจในทุกจังหวัด ไปจนถึงเจ้าหน้าที่การท่าอากาศยานและ รถไฟฟ้ามหานคร โดยจำลองสถานีฝึกทั้งหมด 22 สถานีครอบคลุมภารกิจตรวจค้น เก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดในชุมชน ท่าอากาศยาน ชายฝั่ง และแลกเปลี่ยนความรู้จากหน้าที่ไทยและต่างชาติ

 

 

“เราพยายามเพิ่มความรู้ให้เพื่อความชำนาญให้กับเจ้าหน้าที่อีโอดี ซึ่งวิธีการที่ดีและปลอดภัยที่สุดคือ การใช้เทคโนโลยี 80 % ทักษะเจ้าหน้าที่ 20 % แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด จึงต้องเพิ่มทักษะให้เจ้าหน้าที่ให้มากที่สุด จึงทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนเจ้าหน้าที่อีโอดีอย่างมาก โดยหน่วยของผมมีอัตรา 120 นาย แต่มีเจ้าหน้าที่เพียง 70 นาย ซึ่งหากลดความเสี่ยงได้ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาทำงานด้านนี้มากขึ้น”

เรียนรู้สารประกอบระเบิดจากครัวเรือน

ส.อ.วิษณุ ลายละเอียด แผนกสงครามทุ่นระเบิด โรงเรียนทหารช่าง หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรม กล่าวว่า ได้รับความรู้เพิ่มเติมโดยเฉพาะการประกอบระเบิดแสวงเครื่องหรือ Homemade Explosive (HME) ที่ทำให้ทราบว่า นอกเหนือจากวัตถุประกอบระเบิดทั่วไป เช่น ปุ๋ยยูเรีย น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำตาลทราย ยังมีสารเคมีตัวอื่นๆภายในบ้านที่สามารถนำมาใช้ซึ่งจะช่วยได้มาการการเข้าตรวจสอบพื้นที่ เฝ้าระวังและการเก็บพยานหลักฐาน รวมถึงได้รับประสบการณ์จากหน่วยอีโออีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างหน่วยเฉพาะกิจอโณทัย (ฉก.อโณทัย) ที่มีประสบการณ์สูง

 


สอดคล้องกับ จ.ส.ต.โกวิทย์ สังขาว เจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ระบุว่า การมาอบรมครั้งนี้เพื่อเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ เพราะผู้ก่อเหตุมักที่จะพลิกแพลงรูปแบบการก่อเหตุทั้งแบบใหม่แบบเก่า ซึ่งเจ้าหน้าที่ในหลายหน่วยก็มีประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป รวมถึงการจัดทำกรุ๊ปไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน


“ในพื้นที่ผู้ก่อเหตุมีการพลิกแพลง และจับตาดูการทำงานของเจ้าหน้าที่อยู่เสมอ บางพื้นที่จะเป็นผู้ก่อเหตุกลุ่มหนึ่งมีเอกลักษณ์ในการประกอบระเบิดจุดนี้เราไปแลกเปลี่ยนได้ว่ามาจากกลุ่มไหนพื้นที่ไหน ข้ามพื้นที่ก่อเหตุหรือไม่ก็แลกข้อมูลกัน รวมถึงรับข้อมูลใหม่จากเจ้าหน้าที่ต่างชาติ” จ.ส.ต.โกวิทย์ ระบุ

 

 

นอกจากนี้ ยังมีการเรียนรู้ การวางระเบิดแบบฝัง ซึ่งเหตุล่าสุดกับการวางระเบิดรถไฟใน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งวิธีการตรวจหาสังเกตและเก็บกู้ระเบิดแบบฝังก็ต้องมีการเรียนรู้เพิ่มเติมเนื่องจากผู้ก่อเหตุเริ่มกลับมาใช้วิธีการเช่นนี้อีก โดย ร.ต.ท.สนั่น รังใส หัวหน้าชุด กลุ่มงานเก็บกู้และทำลายวัตถุระบิด กก.ตชด.12 สระแก้ว ระบุว่า เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนจังหวัดสระแก้วจะมีความเชี่ยวชาญการเก็บกู้ทุ่นระเบิด และวัตถุระเบิดแบบฝังที่มีอยู่มากตามแนวชายแดน ซึ่งเจ้าหน้าที่พื้นที่อื่นๆสามารถนำไปปรับใช้ได้

 

รับมือการก่อเหตุในสนามบิน-สารเคมี

นายวิล คิง ผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกาและครูฝึกเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิดในอัฟกานิสถานกล่าวว่า การอบรมเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิดของไทยโดยเฉพาะการรับมือการก่อเหตุในท่าอากาศยานเช่นการจำลองสถานการณ์วัตถุระเบิดและการใช้สารเคมีในการก่อการร้าย และการตรวจสถานที่เพื่อรองรับการเดินทางของบุคคลสำคัญ การประสานไปยังหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และการอพยพประชาชนและนักท่องเที่ยว ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ทั้งเจ้าหน้าที่ควบคุมมลพิษ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่การท่าอากาศยาน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อให้สามารถรับมือสถานการณ์ได้เนื่องจากมีการท่องเที่ยวมากขึ้น

 


"ในสหรัฐอเมริกาจะใช้เทคโนโลยี หรือหุ่นยนต์ในการเก็บกู้วัตถุระเบิด หรือจะมีเจ้าหน้าที่เฉพาะในการเก็บกู้ระเบิดทั่วไปหรือสารเคมี ส่วนหนึ่งจะเป็นการอบรมให้เจ้าหน้าที่สามารถรับมือสถานการณ์ได้แต่ส่วนหนึ่งเจ้าหน้าที่ของไทยก็สอนเราไปในตัวว่ามีวิธีการอื่นๆเช่นกันที่ใช้ในการเก็บกู้วัตถุระเบิด" นายวิล คิง ระบุ

 

 

ใช้หุ่นยนต์-เทคโนโลยี เพื่อความปลอดภัย จนท.

 

 

นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีในการช่วยเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ในต่างประเทศถือว่า เป็นตัวช่วยที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ได้เป็นอย่างดี โดยเทคโนโลยีที่เจ้าหน้าที่อีโอดีได้เรียนรู้จากปฏิบัติการครั้งนี้ ที่สำคัญก็คือ การใช้หุ่นยนต์ขนาดใหญ่ที่สามารถช่วยขนย้ายวัตถุที่มีน้ำหนักกว่า 400 Kg ได้รวมถึงยิงทำลายวัตถุระเบิดได้ถึง 30 เมตร ซึ่งหุ่นยนต์ขนาดใหญ่เช่นนี้ยังไม่มีประจำการในไทย รวมถึงหุ่นยนต์ขนาดอื่นๆที่สามารถปฏิบัติภารกิจในพื้นที่แคบ หรือเขตเมืองได้

 

อีโอดีใต้ อบรมเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ

 


นอกเหนือจากการรับความรู้จากเจ้าหน้าที่ต่างชาติแล้ว เจ้าหน้าที่ของไทยได้อบรมเจ้าหน้าที่จากสหรัฐฯในการเก็บกู้วัตถุระเบิดด้วย เนื่องจากรูปแบบการก่อเหตุในพื้นที่ใน 3 จังหวดชายแดนภาคใต้มีลักษณะเฉพาะทั้งของภูมิประเทศ วิธีการไปจนถึงลักษณะของระเบิดที่ส่วนใหญ่เป็นระเบิดแสวงเครื่องต่างจากในสหรัฐฯหรืออัฟกานิสสถานที่เป็นระเบิดมาตรฐานเป็นส่วนใหญ่

 


จ.ส.ต.อาทิตย์ ตะสอน ผบ.หมู่ตทบ.กก.สส.ภ.จว.ยะลา ระบุว่า การฝึกเจ้าหน้าที่ต่างชาติจะจำลองสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เช่นการแขวนป้ายผ้า ให้ตรวจหาวัตถุระเบิด หรือการเก็บกู้ระเบิดแสวงเครื่องภายในเวลาจำกัด ซึ่งผลตอบรับก็ดีเพราะเจ้าหน้าที่ต่างชาติจะไม่พบรูปแบบที่หลากหลายและมีความยากแบบนี้มากนัก


อย่างไรก็ตาม งานของเจ้าหน้าที่อีโอดียังคงมีความเสี่ยงสูง แนวทางที่ปลอดภัยที่สุดทั้งต่อเจ้าหน้าที่และประชาชน คือ การใช้เครื่องมือเช่นหุ่นยนต์ และอุปกรณ์ตรวจค้นที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงมาใช้มากขึ้นในภารกิจเก็บกู้วัตถุระเบิดเพื่อลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่ด้วยงบประมาณที่ยังคงจำกัดจึงทำให้การเสริมความรู้ให้เจ้าหน้าที่เป็นสิ่งจำเป็นที่สามารถดำเนินการได้ทันที

 

เฉลิมพล แป้นจันทร์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง