ยศพลและอาทิตย์ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในวงเสวนา "โทษฐานที่เธอและฉันเป็นคนเมือง" วงพูดคุยพลวัตของคนเมืองกับการขับเคลื่อนปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมประจำป 2559 "เมื่อปลาจะกินดาว 14" จัดโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2559
ยศพลและอาทิตย์เป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการอนุรักษ์และตรวจสอบโครงการของรัฐในเมืองใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและชุมชน
หากมองในแง่ดีดูเหมือนว่าการพัฒนาโครงการต่างๆ จะเป็นการผลักดันให้ประเทศมีความก้าวหน้า ทันสมัย แต่หากมองอีกมุมหนึ่งอาจเป็นการลดทอนคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะคนเมือง อย่างโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ที่รัฐบาลคาดหวังให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ใช้งบประมาณกว่า 30,000 ล้านบาทในการก่อสร้างทางเดินและทางจักรยานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่แผนแม่บทมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2559
ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Friends of the River แสดงทัศนะต่อโครงการนี้ว่า กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือชุมชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่คนเมืองส่วนใหญ่ไม่รู้สึกถึงความเดือดร้อน ทั้งที่กำลังเจอภัยคุกคาม แม่น้ำที่ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศกำลังถูกทำลายด้วยคำว่า "พัฒนาเพื่อทุกคน" แต่การพัฒนาที่ว่านี้ต้องแลกกับการลุกล้ำและทำลายแม่น้ำ แต่คนเมืองกลับมองเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว เพราะวิถีชีวิตของคนเมืองไม่ได้ผูกพันกับแม่น้ำเหมือนในอดีต
ยศพลมองว่า การถกเถียงเรื่องโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาถือว่าเป็นการต่อสู้กันในเชิงอุดมคติ และอุดมคติของแต่ละคนก็แตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องสร้างพื้นที่เพื่อการพูดคุยและบอกว่าการพัฒนาต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง ซึ่งจะทำให้เกิดการถกเถียงเพื่อหาตัวเลือกที่เหมาะสม
"ทุกคนคือพลเมือง มันเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่ต้องลุกขึ้นมาซักถามและตรวจสอบ เนื่องจากการทำงานของภาคประชาชนคือกลไกหนึ่งของระบบที่ทำให้การสร้างเมืองหรือแม่น้ำสำเร็จได้"เขากล่าว
ยศพลยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการผลักดันประเด็นทางสังคมของคนเมืองว่า จากการรณรงค์มากว่า 1 ปี เห็นได้ชัดว่าคนเมืองเริ่มตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเพิกเฉย ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็ให้ความสนใจด้วยการเข้ามาเป็นอาสาสมัคร มาช่วยรณรงค์ ซึ่งคนกลุ่มนี้ถือเป็นความหวังที่หวังได้กับอนาคตของบ้านเมืองและจะเป็นพลังการสื่อสารที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง
เมื่อประเทศยังต้องได้รับการพัฒนาต่อไป แล้วคนเมืองจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบอย่างไร และการดึงพลังของคนเมืองมาร่วมขับเคลื่อนสังคมจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ หรือคนเมืองจะเป็นเพียงตัวแปรหนึ่งของทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเท่านั้น
อาทิตย์ โกวิทวรางกูร สมาชิกเครือข่ายมักกะสัน ตั้งคำถามเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางในการพัฒนากรุงเทพมหานคร ว่าแท้จริงแล้วถูกกำหนดด้วยอะไร หรือถูกกำหนดด้วยคำว่า "อสังหาริมทรัพย์" โดยเป็นการจัดการเมืองเพื่อหวังเก็งกำไรในด้านธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก เนื่องจากผังเมืองของกรุงเทพฯ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทำให้คนเข้ามาใช้ทรัพย์สินหรือพื้นที่เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม และหากมีการเอื้อให้มีการพัฒนาพื้นที่เพื่อเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น คำถามต่อมาคือ คุณค่าและคุณภาพชีวิตของคนจะอยู่ที่ไหน
เครือข่ายมักกะสันเป็นกลุ่มอิสระที่รวมตัวกันหลวมๆ เพื่อ "ร่วมกับปกป้องสิ่งแวดล้อมโดยไม่แสวงประโยชน์และไม่เกี่ยวข้องกันนักการเมือง"
เป้าหมายเบื้องต้นของการทำงาน คือ การทำให้คนกรุงเทพฯ ตระหนักรู้ว่ากรุงเทพฯ เหลือพื้นที่สีเขียว อันเป็นปอดผืนสุดท้ายอยู่ใจกลางเมืองหลวง ที่คนกรุงเทพฯและคนไทยทั้งประเทศ ควรมีโอกาสพิจารณาร่วมกันว่าต้องการให้พื้นที่แห่งนี้เป็นอะไร ในขณะที่เป้าหมายสูงสุดของเครือข่ายฯ คือ ทำให้พื้นที่โรงงานรถไฟมักกะสันเป็นปอดของกรุงเทพฯ
อาทิตย์บอกว่า ประเทศที่อยากจะพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า มักจะมีการนำเหตุผลต่างๆมาสนับสนุน เช่น การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือมีวาทกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ แต่ทั้งนี้ต้องดูเจตนารมณ์ที่แท้จริงของคนที่ต้องการพัฒนาว่าจะพัฒนาไปในทิศทางไหน อย่างกรณีสวนมักกะสันที่เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใจกลางเมือง กำลังจะถูกภาครัฐและเอกชนเข้าใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งหากคนเมืองเห็นว่ายังมีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่หลงเหลืออยู่ในเมือง จะเป็นตัวชี้วัดสถานะทางความคิดของคนเมืองและลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงหรือแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าเราต้องการคุณภาพชีวิตที่แตกต่างจากที่เคยเป็นมา
"ผมคิดว่าเป็นโอกาสที่สำคัญมาก ถ้าเราจะออกมาเป็นตัวกำหนดหรือคนแก้ปัญหา จากเดิมที่เป็นตัวแปรของการสร้างปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาคนเมืองเป็นตัวแปรของการสร้างปัญหาแต่ไม่รู้ตัว เราไม่ได้กลับไปสู่อดีต แต่เราจะปรับไปสู่ทางที่เป็นอนาคตอย่างเหมาะสม"
อาทิตย์ย้ำว่า การรณรงค์เรื่องเมืองจะเป็นตัวสะท้อนประชาธิปไตยและอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะมันเป็นหน้าที่ของเราทุกคน ขณะที่ผู้นำในการขับเคลื่อนต้องคิดหาวิธีการและช่องทางที่จะทำให้คนที่เริ่มรับสารมากขึ้นหันมาสนใจคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต้องมีความหวัง แต่อย่าให้ความคาดหวังเป็นตัวดับความหวังที่มีต่อการเปลี่ยนแปลง
นับจากไปนี้ การพัฒนาประเทศชาติและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองไม่ได้เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองของประเทศ
ดวงกมล เจนจบ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน