วันนี้ (19 ก.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสัญจรทางน้ำกลายเป็นอีกทางเลือกเมื่อจราจรทางบกติดขัด แต่หลายครั้งกลับเกิดอุบัติเหตุสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินไม่น้อย ล่าสุด คือเหตุเรือโดยสาร 2 ชั้น “สมบัติมงคลชัยทับทิม” ล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดสนามไชย จ.พระนครศรีอยุธยา หลังจากพาผู้โดยสารกลับจากทำบุญ
เรือลำดังกล่าวบรรจุผู้โดยสารได้เต็มที่ 50 คน ทว่า จากการตรวจสอบกลับปล่อยให้ผู้โดยสารขึ้นเรือมากกว่า 100 คน และไม่มีเสื้อชูชีพเพียงพอ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 18 คน สูญหาย 11 คน และบาดเจ็บ 44 คน (ข้อมูล ณ เวลา 15.00น.วันที่ 19 ก.ย.2559) ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เรือโดยสารล่มยังไม่ทราบแน่ชัด
เมื่อต้องอาศัยการสัญจรทางน้ำ ยิ่งเฉพาะคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น ว่ายน้ำไม่แข็งแรง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้หากเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ ย่อมมีความเสี่ยงสูงจากสาเหตุความประมาทหรือแม้แต่เรือเสียการทรงตัวกระทันหัน ข้อมูลจาก กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ระบุถึงวิธีการนั่งเรือโดยสารอย่างไรให้ปลอดภัยไว้ดังนี้
ก่อนออกเดินทาง...ควรเตรียมตัว
1.ฟังพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา
2.หากว่ายน้ำไม่เป็นควรหลีกเลี่ยงการเดินทางเพียงลำพัง อาจชวนเพื่อนที่ว่ายน้ำเป็นร่วมเดินทางไปด้วย และเมื่อลงเรือแล้วควรบอกผู้คุมเรือ หรือคนข้างเคียงทราบ ไม่ควรถือเป็นเรื่องน่าอาย
3.หากต้องโดยสารทางเรือ ควรเลือกชุดและรองเท้าที่ถอดออกได้ง่าย หากเป็นรองเท้าหุ้มส้นไม่ควรใช้ชนิดผูกเชือก เมื่อลงเรือควรคลายเชือกรองเท้าให้หลวม ไม่แนะนำให้ใส่รองเท้าหุ้มข้อลงเรือ
4.เวลารอลงเรือให้ยืนอยู่บนฝั่งหรือท่าน้ำ ไม่ควรยืนคอยบนโป๊ะซึ่งเสี่ยงอันตรายโป๊ะพลิกคว่ำหรือโป๊ะล่ม เนื่องจากโป๊ะมีการทรงตัวเช่นเดียวกับเรือและรับน้ำหนักได้จำกัด
5.เวลาขึ้นลงเรือให้รอจนเรือจอดเทียบท่าเรียบร้อยเสียก่อน และถ้าเห็นว่าเรือบรรทุกตามน้ำหนักหรือจำนวนที่กำหนดแล้ว ให้รอลงเรือลำต่อไป
ขณะเดินทาง...ไม่ควรทำ
1.การสัญจรทางเรือ ผู้โดยสารไม่ควรกลัวเปียกหรือกลัวแดดร้อน เพราะการขยับตัวเพื่อหลบฝอยน้ำหรือเปลี่ยนที่นั่งจะทำให้เรือเสียการทรงตัว
2.เมื่อลงเรือแล้วให้เดินเข้าไปในตัวเรือ อย่านั่งบนกราบเรือ หรือกระจุกตัวอยู่มุมใดมุมหนึ่งของเรือ แต่ให้กระจายนั่งเพื่อสร้างความสมดุลให้เรือ เมื่อเรือเอียงผู้โดยสารควรพยายามจับที่นั่งหรือจับราวจับให้มั่น ป้องกันการลื่นล้มไปยังฝั่งกราบเรือที่เอียง ซึ่งอาจทำให้เรือพลิกคว่ำได้ง่ายขึ้น
3.ไม่ควรดื่มเครื่องมีแอลกอฮอล์ก่อนลงเรือและขณะนั่งเรือ
4.เมื่อเรือเข้าเทียบท่าให้ทยอยกันลุกขึ้น อย่าลุกขึ้นพร้อมกันเพราะอาจทำให้เรือพลิกคว่ำได้
เมื่อ “เรือล่ม”...ควรปฏิบัติตัว
1.ตั้งสติและพยายามว่ายน้ำให้ห่างจากเรือ เพื่อป้องกันเรือพลิกคว่ำมาครอบผู้โดยสาร อีกทั้งควรระวังใบจักรเรือที่ยังทำงานอยู่ ระหว่างนี้ ควรถอดรองเท้า เข็มขัด หรือสิ่งของติดตัวที่จะถ่วงให้จมน้ำทิ้งทั้งหมด
2.พยายามคว้าสิ่งลอยน้ำเพื่อพยุงตัว หากไม่มีให้ถอดเสื้อหรือกางเกงทำเป็นโป่งลอยน้ำใช้พยุงตัวชั่วคราว แต่ไม่ควรว่ายไปจับกราบเรือที่กำลังแล่นผ่านไปมาเพราะจะถูกดูดเข้าใต้ท้องเรือ และได้รับอันตรายจากใบจักรที่กำลังทำงาน
3.เมื่อพ้นระยะอันตรายจากตัวเรือและใบพัดแล้ว ให้ผู้โดยสารพยุงตัวลอยตามน้ำ อย่าพยายามว่ายน้ำตามเรือหรือว่ายเข้าหาฝั่ง เนื่องจากอาจหมดแรงและจมน้ำ
4.ข้อสำคัญเมื่อเกิดอุบัติเหตุต้องช่วยตัวเองให้ปลอดภัยก่อนจึงจะช่วยเหลือผู้อื่น
5.ปล่อยตัวลอยตามน้ำจนกว่าจะมีเรือกู้ชีพหรือเรืออื่นๆ เข้าช่วยเหลือ หรือจนกว่ากระแสน้ำจะพัดเข้าใกล้ฝั่งที่ตื้นหรือที่มั่นคงพอให้ยึดเหนี่ยว จึงค่อยว่ายน้ำไปยังที่หมายเพื่อรอการช่วยเหลือต่อไป
ช่วยเหลือผู้โดยสารเรือล่ม...ทำได้
1.ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ผู้โดยสารพลัดตกน้ำ ควรตะโกนให้นายเรือทราบทันทีว่าตกฝั่งกราบเรือใดซ้ายหรือขวา เพื่อที่นายเรือจะหันหลบไม่ให้ใบจักรท้ายเรือโดนผู้ที่พลัดหล่น
2.ในกรณีเรือล่ม ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ควรโยนเครื่องช่วยชีวิต เช่น ห่วงยาง เสื้อชูชีพ หรือสิ่งที่ลอยน้ำได้ในบริเวณดังกล่าวโยนลงน้ำหลายชิ้น เพื่อที่ผู้ประสบอุบัติเหตุสามารถหยิบคว้าได้หากพลาดจากเป้าหมายแรก
ข้อพึงระวังเมื่อคิดประกอบการเดินเรือโดยสาร
1.เจ้าของเรือ ควรตรวจสอบเรือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จัดเตรียมอุปกรณ์นิรภัยไว้ประจำเรือ เช่น เสื้อชูชีพ เครื่องดับเพลิง ติดตั้งป้ายระบุจำนวนผู้โดยสารบนเรือโดยสารในมุมที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน
2.ไม่บรรทุกผู้โดยสารหรือสิ่งของเกินกว่าน้ำหนักที่กำหนด
3.ในขณะที่เรือแล่นสวนทางกันหรือแซงกันในระยะใกล้ ให้ลดความเร็วลงเพื่อป้องกันอันตรายจากคลื่นน้ำของเรือ
4.ควบคุมผู้โดยสารมิให้นั่งหรือยืนบริเวณหัวเรือ กราบเรือ และหลังคาเรือ รวมถึงกระทำกิจกรรมใดๆ ภายในเรือ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เรือล่ม
5.ห้ามผู้ขับเรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด เนื่องจากทำให้ประสิทธิภาพในการควบคุมเรือลดลง
6.ผู้ประกอบการโป๊ะเทียบเรือ ควรติดตั้งป้ายระบุจำนวนคนที่สามารถรองรับน้ำหนักได้บริเวณโป๊ะเทียบเรือ จัดวางพวงชูชีพที่พร้อมใช้งานตามมุมต่างๆของโป๊ะอย่างน้อย 4 พวง ติดตั้งไฟส่องสว่างให้เพียงพอตลอดบริเวณโป๊ะ และทางขึ้นลงโป๊ะ รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่ควบคุมมิให้ประชาชนลงไปยืนบนโป๊ะเทียบเรือเกินกว่าจำนวนที่กำหนด