วันนี้ (19 ก.ย.2559) ภายหลังการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ครั้งที่ 6 คณะอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด ได้แก่ อนุกรรมการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม อนุกรรมการการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และอนุกรรมการพิจารณาศักยภาพการทำงานพลังงานหมุนเวียนในส่วนของภาคประชาชนได้เดินทางมายังทำเนีบยรัฐบาล ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงเหตุผลการลาออกของอนุกรรมการและกระบวนการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคีที่ขาดความชอบธรรม หลังประธานคณะกรรมการไตรภาคียุติการประชุมกลางอากาศ ทั้งที่ไม่มีข้อสรุปการหารือของอนุกรรมการ
รศ.เรณู เวชรัชต์พิมล อนุกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนภาคประชาชน ภายใต้คณะกรรมการไตรภาคี เปิดเผยภายหลังยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ต้องการให้นายกรัฐมนตรีรับทราบการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคี หลังจากแต่งตั้งกรรมการ 3 ฝ่าย เพื่อศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่มาแล้ว 9 เดือน แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปรวมกันได้ เพราะยังมีความขัดแย้งระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับภาคประชาชน รวมถึงสาเหตุที่อนุกรรมการทั้ง 3 ชุดในส่วนภาคประชาชน ลาออกจากการเป็นกรรมการ เนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ในการศึกษาหาความจริง และมีแนวโน้มตกเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของ กฟผ. ซึ่งภาคประชาชนได้ร้องขอให้ยุติการดำเนินการไปก่อนหน้านี้ แต่ในความเป็นจริงในพื้นที่ กฟผ.ยังคงเดินหน้าล่ารายชื่อผู้ที่สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เพื่อขอรับเงินจากกองทุนรอบโรงไฟฟ้าจัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือ
รศ.เรณู กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการไตรภาคีในวันนี้ ถือเป็นการประชุมชุดใหญ่ครั้งที่ 6 แต่ปรากฏว่า พล.อ.สกลธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมการไตรภาคี ได้สั่งยุติการประชุม ทั้งที่ไม่มีข้อสรุปจากอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด โดยอ้างต่อที่ประชุมว่า ไม่สามารถรอเวลาได้ และจะเป็นผู้สรุปการทำงานของอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด ให้นายกรัฐมนตรีรับทราบเอง ซึ่งไม่น่าจะทำให้เกิดความเป็นธรรมและความชัดเจนในการศึกษาโครงการ โดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพราะอนุกรรมการชุดนี้ไม่เคยมีบทสรุปจากการประชุมเลยสักครั้งหนึ่ง เนื่องจากการประชุมทุกครั้งที่ผ่านมา เป็นเพียงการชี้แจงของ กฟผ.ต่อข้อกังวลในรายงานอีไอเอ ที่คณะกรรมการชำนาญการ (คชก.) ได้ท้วงติงมา 150 ข้อเท่านั้น
“การประชุมไตรภาคีเป็นการสรุปปิดการประชุมที่ไม่มีข้อสรุป ไม่มีมติที่ประชุม ไม่มีการรับรองมติ รู้สึกแปลกใจกับการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นมา เพิ่มมาเป็นตรายาง ให้โครงการนี้มีความชอบธรรม ซึ่งต่างจากตอนที่เป็นคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุดที่มีข้อสรุป มีรายงานส่งถึงนายกรัฐมนตรี มีประกาศที่นำไปสู่การบังคับใช้ตามกฎหมาย แต่การทำงานของคณะกรรมการไตรภาคีกว่า 9 เดือน เราใช้เงินรัฐบาลไปเท่าไหร่ในการเดินทางมาประชุมไตรภาคี แต่ผลสรุปคือ รัฐบาลจะสรุปเอง” รศ.เรณู กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ซึ่งเป็นคณะหนึ่งในคณะกรรมการไตรภาคี ยังคงมีความหวังว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ยังคงยุติลงชั่วคราว ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องรอคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีว่าจะมีคำสั่งให้หาข้อค้นพบที่แท้จริงในศักยภาพพลังงานหมุนเวียนให้ได้ก่อน ซึ่งภาคประชาชนเสนอกรอบเวลาศึกษาภายใน 3 ปี