วันนี้ (20 ก.ย. 2559) เพื่อรักษาพระเขี้ยวแก้วแห่งแคว้นกาลิงคะสมัยศึกประชิดเมือง เจ้าหญิงเหมมาลากับเจ้าชายทันตกุมาร ปลอมพระองค์เป็นพราหมณ์ หวังซ่อนพระเขี้ยวแก้วหรือพระทันตธาตุส่วนเขี้ยวของพระพุทธเจ้าหนีมายังเกาะลังกา
นับจากนั้นผ่านมา 1,700 ปี พระเขี้ยวแก้ว 1 ใน 2 องค์ ที่สถิตในโลก ยังอยู่ที่ดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาศรีลังกา
ทุกๆ วัน ในวัดพระเขี้ยวแก้วกลางเมืองแคนดี้ แทบไม่เว้นจากผู้คนที่หลั่งไหลมาสักการะ หรือบูชาด้วยการประโคมดนตรีพื้นเมือง
พระเวนดะรุเว อุบาลี มหานายกะเถระ รองสมเด็จพระสังฆราชศรีลังกา กล่าวว่า ชาวพุทธศรีลังกาเปรียบการบูชาพระเขี้ยวแก้วว่าไม่ต่างกับการบูชาพระพุทธเจ้า และมักปรากฎความอัศจรรย์ เช่น หากนำพระเขี้ยวแก้วแห่ไปตามเมืองจะมีฝนโปรยปรายลงมา จึงจัดพิธีสมโภชอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วประจำปี เพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาล ถือเป็นมงคลต่อเมืองที่ครอบครอง
ตามประวัติยังพบด้วยว่า พระธาตุเขี้ยวแก้วประดิษฐานอยู่ที่ศรีลังกา ซึ่งไม่เคยนำออกไปที่อื่นแม้แต่ครั้งเดียว เพราะพระทันตธาตุส่วนเขี้ยวของพระพุทธเจ้านี้ มีความหมายกับชาวศรีลังกา โดยพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์มีหน้าที่สำคัญในการรักษาให้สืบอยู่คู่เมือง
ในขณะที่ความเชื่อของคนศรีลังกาถือ มองว่าหากใครได้ครอบครองพระเขี้ยวแก้ว ให้ถือเป็นผู้มีอำนาจดุจราชาหรือสำคัญสูงสุด
ที่มาที่ไปของความเชื่อนั้น ตามคัมภีร์มหาวงศ์ เล่าว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงศรีลังกา 3 ครั้ง และในเมืองอนุราธปุระ นครหลวงแห่งแรก ปรากฎร่องรอยทางศาสนาเก่าแก่หลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่เชื่อกันว่าพระนางสังฆมิตตาเถรี ราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้นำหน่อจากกิ่งเบื้องขวาของต้นพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา มาปลูกเมื่อเกือบ 2,300 ปีมาแล้ว ซึ่งหยั่งรากยาวนานเช่นเดียวกับพระศาสนาในศรีลังกา
พระทันตธาตุส่วนเขี้ยว จึงกลายเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวแทนพระองค์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระสุมนะ นามันเทนีเย พระสงฆ์ชาวศรีลังกา เล่าว่า จุดเริ่มต้นศาสนาพุทธของชาวศรีลังกา นับจากการนำหน่อพระศรีมหาโพธิ์มาปลูก เพราะเป็นปีที่พระเจ้าอโศกมหาราชเผยแผ่ศาสนาพุทธมาถึงที่นี่ และยังมีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเสด็จเยือนศรีลังกา 3 ครั้ง เพื่อปราบยักษ์ ซึ่งเข้าใจว่าอาจเป็นชนพื้นเมือง
ด้าน ธีรวัฒน์ วงศ์วรทัต ตัวแทนมูลนิธิส่งเสริมพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทย-ศรีลังกา กล่าวว่า พระธาตุเขี้ยวแก้วศรีลังกา เป็นพระธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พิสูจน์ได้ และศรีลังกายังประกาศให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ คนที่จะขึ้นรับตำแหน่งปกครองต่างๆ ต้องนับถือศาสนาพุทธเท่านั้น ถึงจะมีสิทธิ์
นับจากพระพุทธศาสนาเผยแผ่มาถึงดินแดนศรีลังกา ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช ส่งพระเถระ 1 ใน 9 สายมายังเกาะของชาวสิงหลหรือศรีลังกา ทำให้ชนพื้นเมืองมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ตลอดจนรับอารยธรรม ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมไว้ด้วย
แม้เคยเผชิญความไม่สงบจากสงคราม ต่อมาถูกปกครองโดยเจ้าอาณานิคม หากทุกวันนี้คนศรีลังกายังยึดมั่นในพุทธศาสนาอยู่กว่าร้อยละ 75 ศรีลังกาเป็นเมืองพุทธที่มีศรัทธาอย่างเหนียวแน่น