วันนี้ (21 ก.ย. 2559) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า โครงกระดูกของไดโนเสาร์ยีราฟฟาติเตียน แบรนไค ที่มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 150 ล้านปีก่อน ถือเป็นจุดเด่นของห้องจัดแสดงไดโนเสาร์ แห่งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ร่วมมือกับฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรมของกูเกิล สร้างภาพเสมือนจริงของไดโนเสาร์ในยุคจูแรสซิก เพื่อให้ผู้เข้าชมเข้าใจเนื้อหาและเรื่องราวได้ง่ายขึ้น
“การทำให้โครงกระดูกไดโนเสาร์ยีราฟฟาติเตียนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยการมองผ่านแว่น 3 มิติ จะทำให้เราเห็นวิธีการเดินของไดโนเสาร์ หางที่แกว่งไปมา ผู้ชมจะได้รับมุมมองใหม่ ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าไดโนเสาร์มีลักษณะอย่างไร ในช่วงที่พวกมันยังมีชีวิตอยู่” วีแลนด์ โฮลเฟลเดอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิศวกรรมกูเกิล เล่าให้ฟังถึงจุดเด่นของเทคโนโลยีเสมือนจริง
การดูภาพ 3 มิติ ยังสามารถดูผ่านโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ในมุมมองของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ยังช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ในพิพิธภัณฑ์ด้วย
โยฮันเนส โวเกล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ บอกว่า การใช้ภาพเสมือนจริง จะทำให้ผู้ชมมีความเข้าใจต่อความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่ลึกซึ้งมากขึ้น ง่ายขึ้น
ปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ 50 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการกับกูเกิล ซึ่งโครงการนี้ประกอบด้วยภาพถ่ายมากกว่า 300,000 ภาพ เอกสาร และวิดีโอ ที่ทุกคนสามารถเข้าไปดูผ่านอินเทอร์เน็ต
“กูเกิลและพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติมีเป้าหมายเดียวกัน คือการจัดระเบียบข้อมูลของโลกใบนี้ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนกระหายความรู้ เรามีวัตถุดิบ มีเรื่องราวและเนื้อหา ในขณะที่กูเกิลมีเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ถือเป็นพันธมิตรที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกัน” โวเกล อธิบายเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี ทางพิพิธภัณฑ์เชิญคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาทดสอบเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง เพื่อดูว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับเทคโนโลยีอันทันสมัยนี้
หนูน้อยคนหนึ่งบอกว่า เธอรู้สึกเหมือนกับอยู่ที่แห่งนั้นจริงๆ รอบตัวเป็นทะเลทรายและมีสัตว์ ซึ่งแม้ไม่รู้ว่าเป็นสัตว์ชนิดไหนบ้างก็ตาม
ขณะที่ผู้สื่อข่าวจากสำนักหนึ่งระบุว่า เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เพราะสามารถมองไปได้รอบตัว ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือเดินทางไปยังเมืองอื่น ก็ยังสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้ตลอดเวลา
โครงกระดูกไดโนเสาร์ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ กรุงเบอร์ลิน เป็นหนึ่งในโครงกระดูกที่ใหญ่ที่สุด แต่ละปีมีผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ประมาณ 9 แสนคน พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเปิดทำการตลอดทั้งปี ทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ผู้ที่สนใจพิพิธภัณฑ์เสมือนตริง สามารถคลิกดูที่เว็บไซต์ของ Google Arts and Culture