วันนี้(22 ก.ย.2559) ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) กล่าวว่า โรคตับเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญของไทย ทั้งเกิดจากโรค เช่น ไวรัสตับอักเสบ เกิดจากพฤติกรรมด้านสุขภาพ เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือเกิดจากยาเนื่องจากทะเบียนตำรับยาที่ไม่ปลอดภัย เช่น มียาสูตรผสมที่ไม่เหมาะสม ยามีขนาดความแรงที่หลากหลายเกินไป มีฉลากยาที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือสับสนในการใช้ยาทำให้ได้รับปริมาณยาเกินกำหนด
ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า สำหรับยา 2 กลุ่ม ซึ่งหากมีการใช้อย่างไม่ถูกต้อง อาจจะเกิดพิษต่อตับมีผลร้ายแรงเรื้อรังและอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต นั้นคือยาที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล (ketoconazole) ชนิดรับประทานใช้เป็นยาต้านเชื้อรา และยาที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอล (paracetamol) ซึ่งเป็นยาแก้ปวดลดไข้ โดยเฉพาะยาพาราเซตามอลไม่ควรรับประทานเกินวันละ 2 กรัม เช่น ยาพาราเซตามอล ชนิด 500 มิลลิกรัม ไม่ควรรับประทานเกิน 4 เม็ดต่อครั้ง และติดต่อกันเกิน 2 วัน ทั้งนี้หากอาการไม่ดีขึ้นควรหยุดยาและรีบพบแพทย์
รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ยาในกลุ่มคีโตโคนาโซล หรือยาต้านเชื้อราแบบรับประทาน สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเชื้อราตามผิวหนัง เป็นกลุ่มยาที่มีพิษร้ายแรงต่อตับอย่างมาก
ขณะนี้บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ต้นแบบได้สั่งยุติการจำหน่ายยาไปแล้วเมื่อปี 2557 แต่ปัจจุบันยังพบวางขายตามร้านขายยาทั่วประเทศ หากผู้ป่วยรับประทานยาเหล่านี้ติดต่อกันจะทำให้เกิดอาการตับอักเสบ
ขณะที่ รศ.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องบริษัทที่เป็นเจ้าของทะเบียนตำรับยาคีโตโคนาโซลแบบรับประทานในประเทศ เร่งถอนทะเบียนยาด้วยความสมัครใจเพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภค