ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เรียกร้องผันน้ำเข้าทุ่งบางบาล สัญญาณความขัดแย้งรอบใหม่

ภัยพิบัติ
25 ก.ย. 59
19:01
532
Logo Thai PBS
เรียกร้องผันน้ำเข้าทุ่งบางบาล สัญญาณความขัดแย้งรอบใหม่
ประชาชนริมแม่น้ำน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ที่กำลังประสบภัยน้ำท่วมเรียกร้องให้กรมชลประทานผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำบางบาลและทุ่่งเสนา แต่ปัญหาก็คือ ขณะนี้พื้นที่รับน้ำได้กลายเป็นนาข้าวที่มีต้นข้าวกำลังตั้งท้องออกรวง และรอการเก็บเกี่ยว

น้ำท่วมที่เกิดขึ้นใน อ.เสนา และ อ.บางบาล ขณะนี้ นับเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งแรกในรอบ 2 ปี เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อ.เสนา และ อ.บางบาล ประสบภัยแล้งจนแม่น้ำน้อยแทบแห้งขอด ล่าสุดวันนี้ (25 ก.ย.2559) ระดับน้ำในแม่น้ำน้อยยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ และเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนริมแม่น้ำ ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบหลายพันหลังคาเรือน เฉพาะใน อ.บางบาล มีวัดถูกน้ำท่วมแล้วไม่ต่ำกว่า 6 วัด ขณะที่โรงเรียนอีกกว่า 10 แห่ง ต้องประกาศหยุดเรียนชั่วคราวไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ขณะที่ถนนหลายสายถูกน้ำเซาะจนพังเสียหาย

ระดับน้ำท่วมที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากน้ำที่ระบายจากเขื่อนเจ้าพระยาวันละ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ประชาชนบางส่วนเรียกร้องให้กรมชลประทานเร่งผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม แต่ขณะนี้ทุ่งรับน้ำใน อ.บางบาล และ อ.เสนา กลับมีการปลูกข้าวเป็นบริเวณกว้าง ข้าวบางส่วนกำลังตั้งท้องออกรวง บางส่วนยังรอการเก็บเกี่ยว การผันน้ำเข้าทุ่งจึงย่อมสร้างความเสียหายให้นาข้าว และเริ่มจะกลายเป็นข้อถกเถียงในพื้นที่ระหว่างชาวบ้านผู้ประสบภัยน้ำท่วมและชาวนา

บุญเลิศ ศรีชาติ หนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ดังกล่าวยอมรับว่าข้าวที่ปลูก คือ ข้าวตอ ไม่ใช่ข้าวที่ปลูกใหม่ แต่ก็เสียดายหากจะมีการผันน้ำเข้าทุ่ง

"ถึงผันน้ำเข้ามาในทุ่งก็ช่วยลดระดับน้ำไม่ได้มากหรอก เพราะน้ำมันมาเยอะ แล้วถ้าผันน้ำมานาข้าวในทุ่งก็เสียหายอีก ทีนี้จะกลายเป็นเสียหายทั้งสองด้าน คนที่อยู่นในทุ่งก็ต้องถูกน้ำท่วมไปด้วย" บุญเลิศกล่าว

 

ขณะที่ละออง ฉายวัน ชาวบ้านที่อาศัยริมน้ำ เสนอให้มีการผันน้ำเข้าทุ่งครึ่งหนึ่ง เพื่อลดความขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่าย

"อยากให้ระบายเข้าทุ่งบ้าง คนละครึ่งก็ยังดี ให้เฉลี่ยน้ำกันไป" ละอองเสนอ

ความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมครั้งนี้ แม้จะไม่รุนแรงเหมือนน้ำท่วมในปี 2554 แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหายังเห็นแผนการบริหารจัดการ ชาวบ้านจึงต้องการให้กำหนดปฎิทินการทำนาให้แน่นอน เพื่อให้ทุ่งรับน้ำสามารถใช้ได้จริงหากเกิดวิฤตเหมือนกับครั้งนี้

เมืองอุทัยธานีจมน้ำ หลังคันกั้นน้ำพัง

สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณพื้นที่หมู่ 3 และหมู่ 5 ต.น้ำซึม อ.เมืองอุทัยธานี ระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากคันกั้นน้ำบริเวณหน้าฝายพันตุ่นพังทลายเมื่อคืนนี้ ขณะที่ชลประทานจังหวัดเปิดประตูระบายน้ำออกด้านท้ายเขื่อนวังร่มเกล้า ต.ทุ่งใหญ่ เพื่อเร่งระบายน้ำในลำน้ำแควตากแดดลงสู่แม่น้ำสะแกกรังและแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเตรียมรับมือมวลน้ำเหนือจาก อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ที่ขณะนี้ไหลหลากผ่าน อ.สว่างอารมณ์ และ อ.ทัพทัน พร้อมกันนี้ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ตลอดแนวแม่น้ำตากแดด เพื่อเร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด

ที่ จ.อ่างทอง ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชาชนริมน้ำ ซึ่งขณะนี้น้ำได้ไหลท่วมพื้นที่หมู่ 1 และหมู่ 4 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ล่าสุดน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมตลาดป่าโมก เจ้าหน้าที่และชาวบ้านต้องช่วยกันนำกระสอบทรายเพื่อไม่ให้ทะลักเข้าพื้นที่ชั้นใน ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจ

ที่ จ.ปทุมธานี บริเวณหมู่บ้านเมืองเอก หอพักนักศึกษารอบๆ มหาวิทยาลัยรังสิตมีน้ำท่วมขังบนถนนหลักสูง 20-40 เซ็นติเมตร โดยเฉพาะบริเวณชุมชนเอกเจริญวิสต้าและหอพักบัณฑิต หมู่ 7 ต.หลักหก ที่เกิดน้ำผุดจากท่อระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้น้ำไหลท่วมขังพื้นถนนและยังไม่มีทีท่าจะลดลง

ส่วนที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม พบว่าแม่น้ำท่าจีน มีระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ส่งผลให้บ้านและพื้นที่เกษตรที่อยู่ริมน้ำถูกน้ำท่วม เจ้าหน้าที่ต้องเร่งสูบน้ำจากคลองนราภิรมย์ลงสู่แม่น้ำท่าจีน เนื่องจากระดับน้ำสูงเกินระดับทั้ง ต.บางระกำ ต.บางเลน ต.บางปลา ต.บางหลวง และ ต.บางไทรป่า

นายกำธร ตุ้งสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กำชับให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำท่าจีนและบริเวณริมสองฝั่งคลองสายหลัก เช่น คลองโยง คลองทวีวัฒนา คลองมหาสวัสดิ์ คลองพระพิมลให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง