ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ยิ่งลักษณ์" ส่งทนายค้านใช้ ม.44 ให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์

การเมือง
25 ก.ย. 59
19:10
255
Logo Thai PBS
"ยิ่งลักษณ์" ส่งทนายค้านใช้ ม.44 ให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เตรียมส่งทนายความยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี คัดค้านการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. เปิดทางให้กรมบังคับคดีทำหน้าที่ยึดทรัพย์ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในคดีรับจำนำข้าว ขณะที่นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย

วันนี้ (25 ก.ย.2559) พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การออกคำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นไปตามกฎหมายและไม่ได้กลั่นแกล้งใคร ซึ่งผู้ที่ต้องรับผิดชอบสามารถอุทธรณ์ได้ตามขั้นตอน พร้อมขอไม่ให้ฟังผู้ที่แสดงความเห็นโดยไม่ยึดความถูกต้อง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุคเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้หลักคิดและให้ความเป็นธรรมกับทุกคดีอย่างเท่าเทียมกัน โดยยกกรณีของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีภรรยาและบุตรชายคนโตเข้ารับงานก่อสร้างในสังกัดของกองทัพภาคที่ 3 วงเงิน 100 ล้านบาท พร้อมมอบหมายให้ทนายความไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อโต้แย้งการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 56/2559 เปิดทางให้กรมบังคับคดีทำหน้าที่ยึดและติดตามทรัพย์จากผู้ที่ต้องรับผิดชอบในโครงการรับจำนำข้าวและการทุจริตระบายข้าว (จีทูจี) ในวันพรุ่งนี้

ขณะที่พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ขอให้หัวหน้า คสช. และรัฐบาล ทบทวนกระบวนการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวและยกเลิกการใช้มาตรา 44 เพื่อเปิดทางให้กรมบังคับคดีทำหน้าที่ยึดทรัพย์ โดยเชื่อว่ามีความพยายามมุ่งเอาผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ และผู้เกี่ยวข้อง

แม้กรมบัญชีกลางจะประกาศค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องชดใช้ แต่เส้นทางในการเรียกค่าเสียหายดังกล่าวอาจไม่ราบรื่น เพราะยังมีกระบวนการที่ต้องใช้เวลาอีกมาก แม้มีมาตรา 44 ของ คสช.รองรับ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 ก.ย. นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ลงนามสรุปยอดความเสียหายที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องชดใช้ 35,717 ล้านบาท จากความประมาทร้ายแรงในการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวจนเกิดความเสียหายต่อรัฐ 180,000 ล้านบาท ก่อนส่งให้ น.ส.สุธีรัตน์ รัตนโชติ รองปลัดกระทรวงการคลัง กลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน ซึ่งมีสิทธิ์ตั้งข้อสังเกต หรือขอให้คณะกรรมการฯ รับผิดทางแพ่ง ทบทวนแนวทางเรียกค่าเสียหายเพียงร้อยละ 20 ของความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ว่าที่อธิบดีกรมบัญชีกลางคนใหม่ ใช้เวลาไม่นานก็ส่งไม้ต่อรายงานคำสั่งนี้ให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาทันที

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้รับรายงานดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ขอออกความเห็นและยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะลงนามคำสั่งทางปกครองด้วยตนเอง หรือมอบหมายปลัดกระทรวงการคลัง เพราะยังอยู่ในขั้นตอนทางเอกสาร ซึ่งตามหลักการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องลงนามร่วมกับนายกรัฐมนตรี ก่อนหมดอายุคดีความวันที่ 17 ก.พ.2560

หากการลงนามนี้เสร็จสิ้น หนังสือคำสั่งจะถูกส่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยสามารถอุทธรณ์ขอทุเลาคดีต่อศาลปกครองได้ภายใน 45 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือคำสั่ง หากไม่อุทธรณ์กรมบังคับคดี สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยึดทรัพย์ได้ทันที

รายงานจากกระทรวงการคลัง ตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการและขั้นตอนดำเนินเรียกความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งและระยะเวลาพิจารณาของศาลปกครองกลาง จนถึงศาลปกครองสูงสุดจะวินิจฉัยเพิกถอนคำสั่งตามที่จำเลยร้อง หรือยกคำร้องจำเลยแล้วให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์ตามจำนวนความเสียหาย 35,717 ล้านบาท แต่ระหว่างนี้ยังไม่มีกระบวนการใดที่ออกมาอายัดทรัพย์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งอาจเปิดทางให้มีการจัดการโยกย้ายเปลี่ยนมือทรัพย์สิน แตกต่างจากกระบวนการยึดทรัพย์นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมอดีตภริยาที่ถูกอายัดทรัพย์ไว้ก่อนที่กรมบัญชีกลางจะทำการยึดทรัพย์จำนวน 46,000 ล้านบาท จึงทำให้ได้รับทรัพย์สินเข้าแผ่นดินตามจำนวน

สิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่จะตามมาหลังการสรุปความเสียหายดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเคลื่อนไหวทางการเงินและการจัดการทรัพย์สินต่างๆ ในฐานะผู้ถูกเรียกความเสียหาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง