ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีประธาน ป.ป.ช. เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย เพราะต้องการให้ตรวจสอบ เอาผิด และลงโทษนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงที่ใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในการเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและครอบครัว
แม้กรณีบริษัทรับเหมารายหนึ่งซึ่งเจ้าของนามสกุลเดียวกับปลัดกระทรวงกลาโหมและอดีตแม่ทัพภาคที่ 3 ชนะการประมูลงานของกองทัพภาคที่ 3 วงเงินเกือบ 100 ล้านบาท จะยังต้องรอการตรวจสอบ แต่ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ กรรมาธิการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งเป็น 1 ในผู้ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เชื่อว่า หากมี กฎหมายฉบับนี้แล้ว จะทำให้นักการเมืองและข้าราชการเกรงกลัวที่จะกระทำการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพราะมีบทลงโทษรุนแรงมากขึ้น
ตามมาตรา 5 การกระทำที่อยู่ในข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม ครอบคลุมทั้งการกำหนดนโยบาย หรือกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อกิจการตนเอง คู่สมรส บุตร และบิดามารดา การนำความสัมพันธ์ส่วนตัวมาเป็นดุลยพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ การกระทำขัดกันกับประโยชน์ส่วนรวมที่อยู่ในความรับผิดชอบ รวมถึงการใช้เวลา เงิน ทรัพย์สิน บุคลากรของราชการ เพื่อประโยชน์ส่วนตน การกระทำการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ตามกฎหมาย ป.ป.ช. การใช้ข้อมูลภายในของรัฐโดยทุจริต การอนุมัติโครงการเพื่อเอื้อประโยชน์ของตนเอง บุคคลใดบุคคลหนึ่งและการใช้อำนาจหรือตำแหน่งโดยทุจริตไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม หากพบการกระทำผิดนอกจากนักการเมืองและข้าราชการจะถูกดำเนินคดีแล้ว ให้ถือว่าบุพการี คู่สมรส บุตร รวมถึงพี่น้องร่วมกระทำผิดด้วย เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็น อันเป็นที่มาของคำว่า กฎหมาย 4 ชั่วโคตร