วันนี้ (30 ก.ย.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม่น้ำเจ้าพระยา ช่วง จ.สิงห์บุรี ล่าสุดระดับน้ำเพิ่มขึ้นอีก 15 เซนติเมตร ส่งผลให้ อ.อินทร์บุรี น้ำล้นเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรนอกแนวเขื่อน เจ้าหน้าที่ต้องอุดท่อระบายน้ำ เสริมคันดิน และระบายน้ำออก ที่ประตูระบายน้ำบางโฉมศรีรวมถึงเปิดประตูระบายน้ำออกจากทุ่งบางระจัน
จ.พระนครศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยยังเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบกับสวนกล้วย ทำให้เกษตรกรต้องขาดทุนจำนวนมากเพราะต้องตัดขายก่อนกำหนด ขณะที่ทางจังหวัด เตือนให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในช่วงต้นเดือนของตุลาคม
จ.อ่างทอง ชาวบ้านหมู่ 3 และ 4 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก ที่ย้ายมาอาศัยเต้นท์ริมถนนสายโผงเผง-บางบาล เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ติดสัญญานไฟ เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่สัญจรไปมาตลอดทั้งคืน
ส่วนภาคเหนือ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำแผงเหล็กมากั้นถนนสายวังน้ำลัด-นาขอม บ้านเนินบ่อทราย ต.วังน้ำลัด อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ หลังน้ำป่าจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ไหลกัดเซาะถนนขาด รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านได้ และต้องใช้ทางเลี่ยงไกลกว่าเดิม 10 กิโลเมตร ส่วนการซ่อมแซมถนนยังทำไมได้ เพราะน้ำไหลเชี่ยวแรง
ไม่ต่างจากจ.พิจิตร น้ำป่าจากเทือกเขาเพชรบูรณ์เข้าท่วม อ.บางมูลนาก โดยเฉพาะวัดห้วยเขน วัดเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี 2540 ทางวัดแจ้งว่าต้องรอน้ำลดจึงจะเข้าสำรวจความเสียหายได้
ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายอำเภอฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานีสูบน้ำ ต.ลำชี เพื่อสูบน้ำออกจากนาข้าวกว่า 2,000ไร่ หลังการขุดลอกคลองกุดซวยน้อย-กุดเปือยน้อย บ้านหัวนอง ต.เหล่ากลาง ทำให้ทางน้ำไหลไม่สะดวก
ส่วนชาวนาบ้านสวนสวรรค์ ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ต้องพายเรือออกไปเกี่ยวข้าวที่ถูกน้ำท่วมสูงประมาณ 50 เมตร และข้าวเริ่มเน่าเสีย หลังจากน้ำในแม่น้ำมูล เอ่อล้นนานเกือบ 1 เดือน