รายงานข่าวจากเว็บไซต์บีบีซี เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2559 สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association - IATA) เปิดเผยว่า ตัวเลขเหตุการณ์ผู้โดยสารทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมบนไฟลท์บิน ทั้งการคุกคามด้วยคำพูดและการปฏิเสธข้อปฏิบัติหรือการแจ้งของลูกเรือ เพิ่มขึ้นกว่า 17 เปอร์เซ็นต์
เฉพาะปี 2558 ปีเดียว มีผู้โดยสารทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมมากถึง 10,854 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มี 9,316 ครั้ง หมายความว่าหากคิดโดยเฉลี่ยในทุกๆ 1,205 ไฟลท์ จะเกิดพฤติกรรมแย่ๆ เกิดขึ้นหนึ่งครั้ง โดยสาเหตุ 1 ใน 4 มาจากการดื่มเครื่องดื่มแอกอฮอล์และการใช้ยาเสพติด ขณะเดียวกัน ร้อยละ 11 ของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เป็นการคุกคามทางร่างกายและการทำความเสียหายแก่อากาศยาน
แถลงการณ์ของ IATA ระบุอีกว่า กรณีที่เกิดเหตุส่วนมากมีลักษณะเป็นการคุกคามด้วยการใช้คำพูด การไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของลูกเรือ และพฤติกรรมที่แสดงออกซึ่งการต่อต้านสังคม ทอม โคลีฮาน ผู้ช่วยผู้อำนวยการสมาคมฯ ยังระบุว่า ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นระหว่างเที่ยวบิน ยังรวมถึงการตรวจความปลอดภัยที่ต้องต่อคิวยาว
"ผมไม่คิดว่าจะมีใครรู้สาเหตุที่แท้จริงของการเพิ่มขึ้นนี้ บางครั้งอาจเป็นผลจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ที่พฤติกรรมต่อต้านสังคม สามารถพบเห็นได้บ่อยๆ หรือกระทั่งอาจได้รับการยอมรับมากขึ้น"
IATA ให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า ในรายงานนี้มีสายการบินจำนวน 265 สายการบิน จำนวนนี้ร้อยละ 40 ต้องทำการบินวกกลับมายังสนามบินอีกครั้ง เมื่อเกิดการแสดงพฤติกรรมก่อความวุ่นวายบนเครื่องในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา สมาชิกผู้ประกอบการสายการบิน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลของตน บังคับใช้ข้อตกลงมอลเทรียล 2014 ซึ่งจะมีผลอนุญาตให้สายการบิน เรียกค่าชดเชยจากผู้โดยสารที่ก่อความวุ่นวายได้ อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารที่สร้างปัญหาเหล่านี้ จะถูกดำเนินคดีแค่ในประเทศที่สายการบินนั้นๆจดทะเบียนไว้
ตัวอย่างพฤติกรรมไม่เหมาะสมในประเทศต่างๆ เช่น ที่อังกฤษ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สายการบินบริติชแอร์เวย์ส ต้องทำการบินกลับ จากเดิมที่จะทำการบินไปยังฟลอริด้า สหรัฐฯ ต้องลงจอดที่บอสตัน เพื่อนำตัวผู้โดยสารที่ถูกกล่าวหาว่า รบกวนการทำงานของลูกเรือ
หรือในปี 2015 สายการบินเซาธ์เวสต์ไฟลท์ ในสหรัฐฯ ที่ต้องลงจอดฉุกเฉิน เนื่องจากมีผู้โดยสาร 2 คน ทะเลาะวิวาท เพราะปัญหาการเอนเก้าอี้มากจนเกินไป ส่วนที่ประเทศจีน สถิติ 5 เดือนแรกของปี 2558 มีเหตุการณ์ความวุ่นวายบนเครื่องบิน 12 ครั้ง รวมทั้งเหตุการณ์ที่ผู้โดยสารพยายามเปิดประตูฉุกเฉิน ขณะเครื่องบินกำลังวิ่งอยู่บนรันเวย์ ด้วยเหตุผลเพียงว่าต้องการออกไปสูดอากาศ
อุตสาหกรรมการบิน ประเมินว่า ความเสียหายของการที่เที่ยวบินระยะไกลต้องเปลี่ยนเส้นทางบินเพื่อลงจอดฉุกเฉิน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 2 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.9 ล้านบาท