วันนี้ (1 ต.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้จะผ่านวัยเกษียณอายุมาแล้ว แต่นายทองคำ แดงสกุล วัย 69 ปี และภรรยา ยังคงต้องขายลอตเตอรี่ที่ตลาดเคหะชุมชนสมุทรปราการทุกวัน เนื่องจากโรงงานทอผ้าที่เคยทำงานอยู่ปิดกิจการ
ตอนนั้น นายทองคำอายุ 62 ปี ทำให้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่ครบ 15 ปี จึงได้รับเงินบำเหน็ดเพียงแค่ 46,000 บาท รายได้จากการขายลอตเตอรี่เดือนละ 9,000 พันบาท จึงเป็นส่วนสำคัญที่เลี้ยงชีวิตตัวเองเและภรรยาในวัยชรา
ด้าน นายสมบัติ มามัง วัย 50 ปี แม้จะมีรายได้จากการทำงานในโรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์ และส่งเงินสมทบในกองทุนชราภาพประกันสังคมเกิน 15 ปี ซึ่งเมื่ออายุครบ 55 ปี เขาสามารถยื่นขอรับเงินบำนาญ ซึ่งจะได้รับเดือนละประมาณ 4 พันบาท แต่เขามองว่าเงินส่วนนี้อาจไม่เพียงพอ จึงเตรียมอาชีพเสริมอย่างการขายพรหมเช็ดเท้าเพื่อหารายได้เพิ่ม เก็บออมไว้ใช้จ่ายในยามชราอีกทางหนึ่ง
สำหรับอัตราเงินชราภาพที่ผู้ประกันตนจะได้รับตามระยะเวลานำส่งเงินสมทบ มีตัวอย่างดังนี้
ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน หรือ 15 ปีตามกำหนด โดยมีฐานเงินเดือน 4,800 บาท เงินบำนาญที่ได้ คือ 960 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ที่มีเงินเดือน 10,000 บาท ได้รับเงินบำนาญ 2,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ ผู้มีเงินเดือน 15,000 บาท จะได้รับเงินบำนาญประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน
หากสมทบมานาน 300 เดือน หรือ 25 ปี โดยมีฐานเงินเดือนที่ 15,000 บาท จะได้รับเงินบำนาญสูงสุดที่ 5,250 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอหากเทียบกับข้อมูลสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ระบุว่าผู้สูงอายุวัยเกษียณควรมีเงินเก็บไว้ใช้เฉลี่ยเดือนละ 9,000 บาท
การปฏิรูปกองทุนชราภาพประกันสังคม อาทิ การขยายเพดานเงินเดือนผู้ส่งเงินสมทบในกองทุนประกันสังคมจากไม่เกิน 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท และอัตราเงินสมทบกองทุนชราภาพของนายจ้างและลูกจ้าง จากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 5 และปรับสูตรคำนวนเงินบำนาญกองทุนชราภาพ อาจกลายเป็นแนวทางที่ทำให้ผู้ประกันตนได้รับผลตอบแทนไว้ใช้จ่ายยามชรามากขึ้น เช่นเดียวกับรายรับของประกันสังคม
ขณะนี้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) อยู่ระหว่างการปรับแก้กฎหมาย เพื่อให้รองรับการปฏิรูปกองทุนชราภาพ
ปัจจุบันพบว่า มีผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปี ยื่นขอรับเงินบำนาญชราภาพแล้วกว่า 67,000 คน เป็นเงินกว่า 1,400 ล้านบาท และคาดว่าในอีก 10 ปี จะมีผู้รับบำนาญมากถึง 1 ล้านคน