ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทำใจ! ท่วมหนัก-ติดหนึบ: ประมวล 4 สาเหตุหลักน้ำท่วมกรุงเทพฯ

ภัยพิบัติ
4 ต.ค. 59
12:59
2,840
Logo Thai PBS
ทำใจ! ท่วมหนัก-ติดหนึบ: ประมวล 4 สาเหตุหลักน้ำท่วมกรุงเทพฯ
วิกฤตน้ำท่วม-รถติดอย่างแสนสาหัสในพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ เมื่อวานนี้ (3 ต.ค.2559) นอกจากจะทำให้หลายคนยังเซ็งไม่หายหรืออาจถึงขั้นหวาดผวาที่ต้องอยู่ในภาวะ "กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง" บนท้องถนนแล้ว ยังเป็นภาพสะท้อนล่าสุดถึงปัญหาการระบายน้ำของกรุงเทพฯ

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเช่นนี้ คำถามถึงสาเหตุที่กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองที่อ่อนไหวต่อภาวะฝนตกหนัก-น้ำท่วม-รถติด มักดังขึ้นเสมอ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ประมวลสาเหตุของปัญหาการระบายน้ำของกรุงเทพฯ ที่ กทม.และผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ได้ดังนี้

1.พื้นที่ "แก้มลิง" น้อยเกินไป

นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กทม.เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อเกิดฝนตกหนักเป็นเพราะ กรุงเทพฯ มีพื้นที่แก้มลิงหรือพื้นที่ลุ่ม สระ บึงสำหรับรองรับน้ำฝน น้อยเกินไป

โดยปกติ ก่อนหน้าที่จะมีฝนตกหนัก กทม.จะเตรียมรับมือโดยการพร่องน้ำในคลองสายหลักและพื้นที่แก้มลิงเพื่อรองรับน้ำ คลองสายหลักมีทั้งหมด 3 คลอง คือ คลองแสนแสบ คลองผดุงกรุงเกษม และคลองดาวคะนอง แต่การพร่องน้ำก็ต้องระวังไม่ให้ระดับน้ำน้อยเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการเดินเรือโดยสารด้วย

ในส่วนของพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำของกรุงเทพฯ นั้น สำนักการระบายน้ำ กทม. แบ่งพื้นที่แก้มลิงเป็น 2 ประเภท คือ 1) แก้มลิงเอกชน ได้แก่ ที่ลุ่ม บึง สระน้ำในพื้นที่เอกชนหรือหมู่บ้าน ซึ่งไม่มีศักยภาพในการรับน้ำมากนัก เพราะไม่มีการบริหารจัดการพร่องน้ำเพื่อรองรับน้ำ 2) แก้มลิงสาธารณะ ได้แก่ บึง สระน้ำสาธารณะที่มีขนาดใหญ่ รองรับน้ำได้ในปริมาณมาก อยู่ใกล้คลองและระบบระบายน้ำ มีการถ่ายน้ำเข้า-ออกได้ บริหารจัดการโดย กทม.หรือหน่วยงานของรัฐ เช่น บึงมักกะสัน บึงพระราม บึงกุ่ม บึงเอกมัย บึงเรือนจำคลองเปรม เป็นต้น

นายอมรระบุว่า กทม.มีพื้นที่แก้มลิงอยู่ 25 แห่ง ควรจะต้องหาเพิ่มให้ได้อีก 10 แห่ง เพื่อเป็นพื้นที่หน่วงน้ำประมาณ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร

2.การขยายตัวของเมือง

การขยายตัวของเมืองรวมถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่มขึ้น เป็นอุปสรรคหนึ่งของการระบายน้ำในกรุงเทพฯ ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำระบุว่าการขยายตัวของชุมชนอย่างรวดเร็ว ทำให้พื้นที่ว่างที่เคยเป็นที่รองรับและกักเก็บน้ำตามธรรมชาติหายไป น้ำที่เคยมีที่ดูดซับไว้ก็ไม่มีที่ไปจึงไหลมารวมกันตามผิวจราจร

ตัวอย่างเช่นพื้นที่เขตลาดพร้าว ในอดีตเคยเป็นทุ่งรับน้ำ แต่ต่อมามีการสร้างอาคารพาณิชย์ หมู่บ้านจัดสรร และห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้กทม.มีพื้นที่รับน้ำลดลง

นายพิจิตต รัตนกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลไว้เมื่อปลายปี 2558 ว่า การเจิรญเติบโตของเมือง ทำให้พื้นที่รับน้ำที่เชื่อมกับคลองใน กทม.ลดลงเกือบร้อยละ 40 โดยเฉพาะกรุงเทพชั้นนอก ที่มีการพัฒนาเมืองจนไม่เหลือพื้นที่รับน้ำ

3.ท่อระบายน้ำมีศักยภาพจำกัด

ศ.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยว่า ปัญหาดินทรุดในกรุงเทพฯ ส่งผลให้ท่อระบายน้ำทรุดตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับการระบายน้ำ เพราะท่ออาจชำรุด ขณะที่ศักยภาพของท่อระบายน้ำก็มีขีดจำกัด เนื่องจากสามารถระบายน้ำได้เพียง 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น


สอดคล้องกับความคิดเห็นของ รศ.เสรี ศุภราทิตย์ เมื่อครั้งเป็นผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต เปิดเผยว่าระบบท่อระบายน้ำของ กทม.ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมีขนาดเล็ก จึงไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกเกินได้ น้ำจึงไม่ไหลเข้าสู่อุโมงค์ยักษ์

4.ปริมาณขยะมากขึ้น

สำนักการระบายน้ำ กทม. ระบุว่า ปัญหาขยะอุดตันคลองเป็นอุปสรรคสำหรับการระบายน้ำอย่างมาก ทุกวัน กทม.ต้องเก็บขยะออกจากคลองสายหลักวันละ 10-20 ตัน ที่ส่วนใหญ่มักจะพบขยะขนาดใหญ่ เช่น โซฟา ที่นอน ซากไม้ และข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง