ในระหว่างปี 2550-2557 ครัวเรือนมีการออมสุทธิต่อคนประมาณ 8,500-9,500 บาท แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจเปราะบาง เช่น ปี 2551 เงินออมสุทธิต่อคนลดลงเหลือ 7,682 บาท หดตัวจากปีก่อนหน้าร้อยละ 11.3 หลังจากนั้นก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จนกระทั่งปี 2555-2556 เงินออมสุทธิต่อคนขยายตัวติดลบร้อยละ 3.16 และร้อยละ 4.18 ตามลำดับ
ขณะที่การสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อปี 2558 รายงานว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 67.3 ไม่มีการออมในแต่ละเดือน ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ออมเงินร้อยละ 32.7 ส่วนใหญ่ออมเงินร้อยละ 10-20 ของรายได้
ส่วนแหล่งรายได้สำคัญหรือรายได้หลักในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ พบว่าส่วนใหญ่ได้รับจากบุตร รองลงมาคือรายได้จากการทำงานของผู้สูงอายุเองและเบี้ยยังชีพจากทางราชการ แต่ด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้สูงอายุอาจพึ่งพาการช่วยเหลือจากบุตรหลานได้ยากขึ้น ประกอบกับคนไทยทำอาชีพอิสระมากขึ้น ภาครัฐจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการออม
จากปัญหาการออมเงินของคนไทย รัฐบาลจึงมีมาตรการส่งเสริมการออม เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นนโยบายสำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรืออยู่นอกระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ และกองทุนเอกชนที่มีนายจ้างจ่ายสมทบเพื่อให้มีเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณ