ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผลสำรวจผักผลไม้กว่าร้อยละ 56 พบสารตกค้างเพียบ "ส้ม-คะน้า" สารเคมีสะสมมากสุด

สังคม
6 ต.ค. 59
19:49
7,670
Logo Thai PBS
ผลสำรวจผักผลไม้กว่าร้อยละ 56 พบสารตกค้างเพียบ "ส้ม-คะน้า" สารเคมีสะสมมากสุด
"ไทยแพน" เปิดผลสำรวจสารพิษตกค้างใน "ผัก-ผลไม้" พบมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานร้อยละ 56 ผักผลไม้จากห้างดัง และตรา Q หนักสุด ขณะที่ ส้มและคะน้าไม่ปลอดภัยสูงสุด

วันนี้(6 ต.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Thai-PAN) แถลงผลการตรวจสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ รอบที่ 2 ประจำปี 2559 หลังจากสุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ที่นิยมบริโภค 16 ชนิด ระหว่างวันที่ 23-29 สิงหาคม 2559 ได้แก่ พริกแดง กะเพรา ถั่วฝักยาว คะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี แตงกวา มะเขือเปราะ และมะเขือเทศ

สำหรับผลไม้ 6 ชนิด ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง มะละกอ แตงโม แคนตาลูป ฝรั่ง และแก้วมังกร รวมทั้งสิ้น 158 ตัวอย่าง จากห้างโมเดิร์นเทรด 3 ห้างหลัก ได้แก่ บิ๊กซี แมคโคร เทสโก้โลตัส และตลาดค้าส่ง 3 ตลาด ได้แก่ ตลาดไท ตลาดปฐมมงคล จ.นครปฐม และตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี

นอกจากนี้จากการเก็บตัวอย่างผักผลไม้ที่ติดฉลากปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์จากห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง อาทิ กูร์เมต์มาร์เก็ต ท็อปส์ โฮมเฟรชมาร์ท แม็กซ์แวลู วิลล่ามาร์เก็ต เลมอนฟาร์ม โกลเด้นเพลส ฟู้ดแลนด์ โดยส่งวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างแบบ Multi Residue Pesticide Screen (MRPS) พบว่าผักและผลไม้โดยรวมมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน (MRL) ถึงร้อยละ 56 ของตัวอย่างที่เก็บทั้งหมด 158 ตัวอย่าง

น.ส.ปรกชล เปิดเผยว่า แหล่งจำหน่ายที่พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากที่สุด คือ ผักและผลไม้จากห้างโมเดิร์นเทรด ซึ่งพบตกค้างมากสุดถึงร้อยละ 70.2 โดยเทสโก้โลตัสพบไม่ปลอดภัย 12 จาก 16 ตัวอย่าง รองลงมา ได้แก่ แมคโคร 11 จาก 16 ตัวอย่าง บิ๊กซี 10 จาก 15 ตัวอย่าง

ขณะที่ตลาดค้าส่งพบตกค้างเกินมาตรฐานร้อยละ 54.2 โดยตลาดไทพบ 10 จาก 16 ตัวอย่าง ตลาดปฐมมงคล 9 จาก 16 ตัวอย่าง และตลาดศรีเมือง 7 จาก 16 ตัวอย่าง อย่างไรก็ตามตลาดศรีเมืองมีโครงการที่น่าสนใจนั้นก็คือการส่งเสริมเกษตรกรให้พัฒนาการผลิตที่ปลอดภัย มีอาคารผักผลไม้ที่ปลอดภัย เพื่อรองรับผลผลิตดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ทำให้พบการตกค้างน้อยกว่าแหล่งจำหน่ายอื่นอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับผักที่พบสารพิษตกค้างเกินค่า MRL มากที่สุด คือ คะน้า 10 จาก 11 ตัวอย่าง ลำดับรองลงมา ได้แก่ พริกแดง 9 จาก 12 ตัวอย่าง ถั่วฝักยาวและกะเพราพบ 8 จาก 12 ตัวอย่าง ผักบุ้ง 7 จาก 12 ตัวอย่าง มะเขือเปราะ 6 จาก 11 ตัวอย่าง แตงกวา 5 จาก 11 ตัวอย่าง มะเขือเทศ 3 จาก 11 ตัวอย่าง ในขณะที่กะหล่ำปลีและผักกาดขาวปลี พบน้อยที่สุดเพียง 2 จาก 11 และ 12 ตัวอย่างตามลำดับ สอดคล้องกับผลการเฝ้าระวังของไทยแพนตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ขณะที่ผลไม้ที่พบสารพิษตกค้างเกินค่า MRL มากที่สุด คือ ส้มสายน้ำผึ้ง เป็นผลไม้ที่พบสารตกค้างทุกตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่าง รองลงมา ได้แก่ แก้วมังกร 7 จาก 8 ตัวอย่าง ฝรั่ง 6 จาก 7 ตัวอย่าง มะละกอและแตงโม 3 จาก 6 และ 7 ตัวอย่างตามลำดับ และแคนตาลูปพบการตกค้างน้อยที่สุด เพียง 1 ตัวอย่าง

ขณะที่ผลการตรวจผักที่ได้รับตรารับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบสารพิษตกค้างเป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยฉลากสินค้า Q พบการตกค้างเกินมาตรฐาน 16 จาก 26 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 61.5 ส่วนผักและผลไม้ที่มีตรารับรอง Organic Thailand ซึ่งกำกับดูแลโดย มกอช.พบสารพิษตกค้าง 2 จาก 10 ตัวอย่าง

น.ส.ปรกชล กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงคือการพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งยกเลิกการใช้แล้วได้แก่ ไดโครโตฟอส เอ็นโดซัลแฟน เมทามิโดฟอส และโมโนโครโตฟอส ทั้งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่กรมวิชาการเกษตรไม่อนุญาตทะเบียน 2 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน และเมโทมิล ตกค้างอยู่ในผลผลิตรวม 29 จาก 158 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 18.4

"แม้ว่าสารบางตัว เช่น เมทามิโดฟอส จะยกเลิกใช้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งไม่ควรมีหลงเหลืออยู่ แปลว่ากลไลกำกับร้านจำหน่ายสารเคมียังไม่ครอยคลุม ไม่แข็มแข็งและปล่อยให้มีใช้อย่างแพร่หลายถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งควบคุม" น.ส.ปรกชล กล่าว

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขอเวลาศึกษาข้อเท็จจริงจึงยังไม่สามารถชี้แจ้งถึงผลตรวจสอบครั้งนี้ได้

ขณะที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Thai-PAN) เตรียมนำผลตรวจสอบที่พบเสนอต่อกรมวิชาการเกษตร พร้อมเสนอทางแก้ปัญหาและควบคุมสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ในวันพรุ่งนี้(7 ต.ค.)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง