ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตัวอักษรจากก้นครัวของ "อุรุดา โควินท์"

Logo Thai PBS
ตัวอักษรจากก้นครัวของ "อุรุดา โควินท์"
อาหารทุกเมนูหรือแม้แต่ส่วนผสมล้วนมีเรื่องเล่าที่เชื่อมโยงผู้คนในความทรงจำ "อุรุดา โควินท์" จึงใช้ตัวอักษรถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตที่ครบรส ผ่านพื้นที่ก้นครัว ท่องโลกอักษรวันนี้ พาไปเปิดครัวสีแดงของนักเขียนหญิง

ใส่น้ำมันแต่พอดี ผัดเครื่องแกงให้หอมด้วยไฟอ่อนก่อนเติมหมูสับ แล้วผัดให้แหลวแตว ที่ภาษาเหนือหมายถึงผัดให้เละ เคล็ดลับการทำน้ำพริกอ่อง อาหารขึ้นชื่อเมืองเหนือที่นักเขียนชาวเชียงราย "อุรุดา โควินท์" ใส่ใจรายละเอียดทุกขั้นตอน

แม้สร้างชื่อจากเรื่องสั้นและนิยายสะท้อนชีวิต หากนักเขียนรางวัลสุภา เทวกุล ยังเลือกใช้ความเรียงเรื่องอาหารถ่ายทอดประสบการณ์ที่ครบรส พร้อมแบ่งปันสูตร ผ่านคอลัมน์ครัวสีแดงในนิตยสารขวัญเรือนมาเกือบ 10 ปี ก่อนรวมเล่มเป็นหนังสือถึง 5 เรื่อง

 


อาจจะไม่เหมือนตำราอาหารทั่วไป ตำรับก้นครัวสีแดงที่ไม่ได้มีสูตรตายตัว แต่สิ่งที่แม่ครัวนักเขียนอุรุดาให้ความสำคัญนอกจากรสชาติ คือกลวิธีเล่าเรื่องแบบเรื่องสั้นที่เพิ่มอรรถรสในการอ่าน ร้อยเรียงความทรงจำเกี่ยวกับอาหารผ่านหนังสือ


"ทำกับข้าวให้แม่กินสักมื้อ เดี๋ยวแม่ก็ลืม" วิธีง่ายๆ ที่นักเขียนหญิง ลงครัวทำอาหารโปรดของแม่ "ต้มหอง" หรือแกงหน่อไม้ใส่ถั่วลิสง เพื่อง้อแม่ เรื่องเล่าจากชีวิตจริงที่เขียนไว้ในหนังสือเล่มแรก "บ้านเกิด ครัวของเรา กับร้านในสวนลิ้นจี่" เล่าถึงช่วงเวลาที่หวนกลับสู่ภูมิลำเนาหรือสูตรอาหารรัสเซียจากคนใกล้ชิด ในหนังสือเล่มล่าสุด "ครัวสีแดง-แซ่บปาร์ตี้" ซึ่งมีโต๊ะอาหารเป็นเหมือนห้องรับแขก เรื่องราวผ่านตัวอักษรจึงคล้ายเป็นบันทึกชีวิตที่เปลี่ยนผ่านจากอาหารแต่ละมื้อ

"น้ำพริกอ่อง ทุกครั้งที่ทำจะคิดถึงคนที่สอนให้ทำเป็น น้ำพริกอ่องที่เราชอบ มีเรื่องราวระหว่างเราและเค้าอยู่ด้วยกัน"

 

 

โลกโซเชียลยังเป็นช่องทางสร้างเมนูออนไลน์ให้นักเขียนก้นครัวได้แลกเปลี่ยนกับแฟนหนังสือโดยตรง จนพบว่าคอลัมน์อาหารเชื่อมโยงนักอ่านกับนักเขียนได้ง่ายที่สุด เสน่ห์ปลายจวักและปลายปากกาจึงเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพที่ดึงดูดผู้คนมาพบกัน

"ถ้าทำอะไรไม่ได้ แต่เราทำอาหารได้ สมมติว่าเขียนหนังสือไม่ได้ ฝืดมาก แต่ทำอาหารได้ อาหารเป็นผลสำเร็จที่รวดเร็วและแบ่งปันได้ทันที ทำแล้วชวนเพื่อนมาบ้านทำอาหารให้กิน เค้าบอกอร่อยก็มีความสุขแล้ว" นักเขียนหญิงเล่า

การเข้าครัวตลอด 10 ปี ไม่เพียงช่วยให้นักเขียนสาวและคนใกล้ชิดอิ่มท้อง หากยังอิ่มใจทุกครั้งที่ได้เรียนรู้และแบ่งปันผ่านตัวอักษร


อัญชลี โปสุวรรณ ไทยพีบีเอส รายงาน

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง