นับตั้งแต่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ทราบข่าวพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีกระแสรับสั่งให้วัดทั่วประเทศภูฏานทำพิธีสวดมนต์เป็นกรณีพิเศษเพื่อร่วมกันภาวนาให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หายจากพระอาการประชวร
เมื่อวันแห่งการสูญเสียมาถึงเมื่อวันที่ 13 ต.ค.2559 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีทรงขึ้นข้อความทางเฟซบุ๊กของพระองค์แสดงความเสียพระราชหฤทัยอย่างสุดซึ้ง และทรงรับสั่งให้ประชาชนภูฏานร่วมกันไว้อาลัยเป็นเวลา 7 วัน โดยให้มีการจุดเทียนและสวดมนต์ เพื่อรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
การเสด็จมาร่วมพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี และสมเด็จพระราชินี สะท้อนความผูกพันระหว่างสองประเทศที่ยาวนานถึง 27 ปี
ย้อนกลับไปในวันฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 2549 มกุฏราชกุมารจิกมีเสด็จมาไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะ
ราชอาณาจักรภูฏานมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับนานาประเทศ แต่มีเพียง 4 ประเทศที่มีสถานเอกอัครราชทูตภูฏานโดยมีไทยเป็นหนึ่งในนั้น อีก 3 ประเทศคืออินเดีย คูเวต และบังคลาเทศ และภูฏานมีสำนักงานถาวรผู้แทนคณะทูตที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ภูฏานและไทยยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเรื่อยมาทั้งทางด้านการศึกษา การพัฒนา การท่องเที่ยว และเกษตรกรรม ไอที รวมทั้งด้านธุรกิจ เนื่องจากมีนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนทำกิจการโรงแรม ก่อสร้างและอาหารในภูฏาน
ทั้งนี้ไทยและภูฏานมีความคล้ายคลึงกันในด้านวัฒนธรรม ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจ การปกครองของภูฏานแสดงถึงความใกล้ชิดของสถาบันกับประชาชนในรูปแบบประชาธิปไตย ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งใกล้เคียงกับไทย
ภูฏานเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเรื่องนโยบายความสุขมวลรวมนานาชาติ หรือ Gross National Happiness (GNH) เป็นแนวคิดที่มีขึ้นกว่า 40 ปี เพื่อต้องการเน้นการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ดูแลป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติ
ภูฏานได้ชื่อว่าเป็น "ราชอาณาจักรแห่งมังกรสายฟ้า" เป็นประเทศที่งดงามบนเทือกเขาหิมาลัย และเป็นประเทศที่น้อมนำนโยบายความสุข เพื่อเสริมสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้แก่ประชากรกว่า 7 แสนคน ในประเทศที่เป็นที่เรียกขานว่า "ดินแดนแห่งความสุข"