วันนี้ (20 ต.ค.2559) นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวหลังเปิดงานวันโรคกระดูกพรุนโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 20 ตุลาคมของทุกปี ว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์แบบ แนวโน้มที่ประชากรมีอายุยืนมากขึ้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ผู้สูงอายุก็มักป่วยเป็นโรคต่างๆ โดยในช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ถึงร้อยละ 20 ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งผู้หญิงมีภาวะความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย
สอดคล้องกับข้อมูลองค์การอนามัยโลกพบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิง และ 1 ใน 8 ของผู้ชาย ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสเสี่ยงที่จะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน และคาดการณ์ว่าในปี 2050 จะมีผู้ป่วยด้วยโรคกระดูกพรุนทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็น 6.3 ล้านคน
โรคกระดูกพรุน ส่งผลให้ความแข็งแรงของกระดูกเสื่อม หรือกระดูกถูกทำลาย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเอว ปวดหลัง และปวดตามข้อกระดูกต่างๆ ในคนที่มีอาการมากๆ กระดูกส่วนสำคัญมีโอกาสหักได้ง่าย ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังป้องกันโรคกระดูกพรุน เมื่ออยู่ในวัย 40 ปี ควรหมั่นเข้าประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคกระดูกพรุนในโรงพยาบาลต่างๆ รวมถึงการรับประทานอาหารที่เสริมสร้างแคลเซียม เช่น นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ปลาเล็กปลาน้อย ใบพลู คะน้า