แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินนมาที่นี่และมีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำ จากนั้นมาชีวิตชาวบ้านก็เปลี่ยนไป
ช่วงปี 2517-2524 บ้านห้วยยาง ต.เหล่าโพนค้อ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ประสบปัญหาภัยแล้ง ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับทำนาและเพาะปลูก ส่งผลให้ชาวบ้านกว่าร้อยละ 90 ต้องออกเร่ไปตามอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงเพื่อขอทานข้าวสารนำมาประทังชีวิตคนในครอบครัว หนังสือพิมพ์บางฉบับยกให้เป็นหมู่บ้านยากจนที่สุดในประเทศ
"ก็อายเขา ไม่รู้เขาจะพูดถึงเราว่ายังไง บางคนก็พูดดีกับเรา บางคนก็พูดไม่ดี บางคนให้เยอะ บางคนให้น้อย แต่เราก็ต้องไปขอเขาเพราะจำเป็น ที่บ้านมีลูกหลายคน" ชาวบ้านห้วยยางคนหนึ่งที่เคยเดินทางไปตระเวนขอทานข้าวสารถ่ายทอดความรู้สึก
"เราเหมารถไปด้วยกันหลายคน ไปกันเป็นกลุ่ม เพราะความอดอยาก เราไปหลายจังหวัด ไปถึงหนองคาย ไปขอข้าวตามบ้านเอามาเลี้ยงลูกหลาน" ชาวบ้านห้วยยางอีกคนหนึ่งเล่า
แต่ความยากจนข้นแค้นจนไม่มีข้าวกินนี้ได้อันตรธานไปหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำริก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นเมื่อปี 2527 เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในพื้นที่ และเสด็จพระราชดำเนินเปิดอ่างด้วยพระองค์เองเมื่อปี 2532
กว่า 20 ปีที่ผืนนาของชาวบ้านไม่เคยแห้งแล้งเพราะมีระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยโท ห้วยยาง รวมทั้งแปลงพืชการเกษตรก็สามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปีทำให้วันนี้หมู่บ้านขอทานจะเป็นเพียงเรื่องเล่าขานจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่บอกต่อลูกหลานถึงพระมหากรุณาธิคุณที่หมู่บ้านแห่งนี้เคยได้รับ
ปัจจุบันบ้านห้วยยางมีประชากรกว่า 400 ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งทำนา ปลูกพืชการเกษตร และ เพาะชำกล้าไม้ ซึ่งชาวบ้านต่างเชื่อว่า เพราะสายพระเนตรอันยาวไกลและพระเมตตาต่อพสกนิกร ทำให้บ้านห้วยยางพลิกชีวิตจากหมู่บ้านขอทาน กลายเป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษกิจพอเพียงได้ตามพระประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9ที่มีพระราชดำริไว้เมื่อกว่า 20 ปีก่อน