พสกนิกรต่างรอคอยหนังสือพิมพ์รายวัน ฉบับเช้าวันที่ 1 มกราคม เพราะทุกฉบับจะตีพิมพ์ภาพ ส.ค.ส.พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ข้อความจาก ส.ค.ส.พระราชทานในแต่ละปีถูกประมวลจากเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น เพื่อสะท้อนปัญหาและอุปสรรคที่ประเทศไทยต้องประสบในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา
เดิมนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทาน ส.ค.ส.ผ่านเครื่องโทรพิมพ์ หรือเครื่องเทเล็กซ์ เพื่อพระราชทานแก่ข้าราชบริพาร โดยทรงใช้รหัสแทนพระองค์ลงท้ายว่า "กส. 9 ปรุ" แต่เมื่อปี 2529 หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช องคมนตรีได้ทูลเกล้าฯ ถวายคอมพิวเตอร์ แมคอินทอช พลัส นับว่าเป็นคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยมากที่สุดในยุคนั้น พระองค์ทรงใช้เพื่อเก็บและพิมพ์โน้ตเพลง
หลังจากได้ทรงศึกษาโปรแกรม ทรงสนพระราชหฤทัยอักขระคอมพิวเตอร์ หรือฟอนต์ ทรงทดลองใช้โปรแกรม "ฟอนทาสติก" ในการประดิษฐ์อักษรไทยและอังกฤษขึ้นหลายแบบและหลายขนาด ทั้งแบบจิตรลดาและแบบภูพิงค์ โดยผ่านการประมวลผลข้อมูลด้วยพระองค์เอง รวมถึงทรงศึกษาการใช้คอมพิวเตอร์แสดงตัวอักษรเทวนาครีบนจอภาพ
ทรงเปลี่ยนมาใช้คอมพิวเตอร์ในการประดิษฐ์ ส.ค.ส.พระราชทาน ทรงเปลี่ยนแปลงคำลงท้ายว่า "ก.ส.9 ปรุง" แทนและมีรูปแบบเฉพาะด้วยการระบุวันและเวลาที่ทรงประดิษฐ์ขึ้น
ฟ้อนต์ที่ทรงประดิษฐ์ยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ ฟอนต์ดอทคอม เขาเล่าว่า สมัยก่อนการทำฟอนต์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่มีคอมพิวเตอร์และโปรแกรมที่ทันสมัยเท่ากับปัจจุบัน การออกแบบฟอนต์จะออกแบบเป็นพิกเซล ซึ่งจะต้องใส่จุดตามกรอบตารางที่กำหนด ส่วนโปรแกรมต้องพัฒนาโปรแกรมเอง
ไม่เพียงแต่การออกแบบอักขระคอมพิวเตอร์ แต่ทรงใช้คอมพิวเตอร์ในการบันทึกพระราชกรณียกิจต่างๆ ทรงพระอักษรพระราชนิพนธ์ต่างๆ เช่น เรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ หรือเรื่องพระมหาชนก รวมทั้งทรงติดตั้งเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนพระราชกรณียกิจของพระองค์ เพราะทรงเล็งเห็นว่าการสื่อสารเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศเพื่อให้ประชาชนได้อยู่ดีกินดี