ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ประยุทธ์” เร่งกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ คาดไม่เกินสัปดาห์หน้าเสนอเข้า ครม.

การเมือง
28 ต.ค. 59
20:02
5,241
Logo Thai PBS
“ประยุทธ์” เร่งกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ คาดไม่เกินสัปดาห์หน้าเสนอเข้า ครม.
นายกฯ เร่งประชุมหาข้อยุติแก้ไขปัญหาราคาข้าวไทยตกต่ำ คาดไม่เกินสัปดาห์หน้าเสนอวิธีช่วยเหลือต่อ ครม.เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ แนะประชาชนเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ว่าด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นวิถีแห่งภูมิคุ้มกันชีวิตที่มั่นคง

วันนี้ (28 ต.ค. 2559) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน" ว่า กรณีราคาข้าวตกต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวหอมมะลิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ คาดว่าเป็นผลจากการรับซื้อของโรงสีและพ่อค้าคนกลาง และตัวข้าวเองมีความชื้นสูงซึ่งเป็นผลกระทบจากน้ำท่วม รวมไปถึงราคาข้าวในตลาดโลก การลดราคาเพื่อแข่งขันของประเทศผู้ผลิตข้าว

“รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ และกำลังกำหนดมาตรการเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวนาโดยเร็วที่สุด คาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้าจะเร่งประชุมเพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว แล้วเสนอให้ ครม.รับทราบ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ต้องขอบคุณพี่น้องเกษตรกรที่ต่อสู้ด้วยความอดทน เสียละ รัฐบาลรับรู้ความทุกข์ของท่านเสมอ และพร้อมร่วมทุกข์ไปกับท่าน” นายกฯ ระบุ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในส่วนราคาลองกองที่ตกต่ำเช่นกันนั้น รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับ บริษัท ประชารัฐ รักสามัคคี ประเทศไทย จำกัด ใช้พื้นที่ ตลาดคลองผดุงฯ ข้างทำเนียบรัฐบาล นำผลิตผลชาวสวนลองกองจาก 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ คือ จ.ยะล จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส มาจำหน่ายในวันที่ 26 ต.ค.-2 พ.ย. 2559 รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปลองกองเป็นน้ำลองกอง ไอศกรีมลองกอง เพื่อเพิ่มมูลค่า ขึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่สนใจทุกคน มาช่วยกันอุดหนุน

ขอบคุณประชาชนที่ร่วมกันรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่ออีกว่า ในนามของนายกรัฐมนตรีและปวงชนชาวไทยทุกคน รู้สึกเป็นเกียรติและซาบซึ้งเป็นอย่างสูง ที่ประมุข และผู้นำประเทศ รวมทั้งองค์การสหประชาชาติ ได้ร่วมแสดงความอาลัยต่อการสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลย เดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ด้วยการลงนามถวายความอาลัย การยืนสงบนิ่งไว้อาลัย และการลดธงครึ่งเสา

นอกจากนี้ ขอขอบคุณและขอชื่นชมพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ที่ร่วมกันรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ และแสดงออกถึงความจงรักภักดีที่ไม่มีวันเสื่อมคลายแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการร่วมใจกันร้องเพลงสรรเสริญ ณ ท้องสนามหลวง และการทำดีเพื่อพ่อด้วยการทำหน้าที่จิตอาสา

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่ออีกว่า การแสดงออกดังกล่าว นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจและเห็นใจ ความรู้สึกของประชาชนชาวไทย ต่อการจากไปของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพรักยิ่งของพสกนิกรไทย ซึ่งเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการยกย่องในพระราชกรณียกิจที่ทรงทุ่มเท เพื่อประเทศชาติและประชาชนตลอดระยะเวลา 70 ปี ซึ่งยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในประวัติศาสตร์โลก รวมทั้งการยอมรับในหลักการทรงงาน และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ

“แม้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตแล้ว แต่ศาสตร์พระราชายังคงอยู่คู่แผ่นดินไทย รวมทั้งแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้พระราชทานไว้กว่า 40 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้พสกนิกรชาวไทย นำไปเป็นแนวทางการพัฒนาตนเองและครอบครัว ให้มีภูมิคุ้มกันที่มั่นคง ในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งล้วนมุ่งให้พสกนิกร ทุกหมู่เหล่า ดำรงตนเป็นคนดี ทั้งคิดดี พูดดี ทำดี ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม สุจริต มีวินัย และมีความสามัคคีปรองดองกัน เพื่อร่วมกันพัฒนา” นายกฯ ระบุ 

อัญเชิญหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาชาติ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทางรัฐบาลจึงอัญเชิญหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นปรัชญานำทางในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในอีก 20 ปีข้างหน้า รวมทั้ง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564 โดยมุ่งเน้นการน้อมนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมในทุกระดับ ด้วยการสร้างกลไกการขับเคลื่อน และแต่งตั้ง “คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(กพย.)” มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและทำงานในรูปแบบประชารัฐ ประกอบด้วยทุกกระทรวง ภาคเอกชน ภาควิชาการ ฯลฯ เพื่อพัฒนาประเทศไทย

ส่วนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะเป็นแนวทางการพัฒนาที่นำไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไรนั้น พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า สิ่งสำคัญคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ และการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน จากนั้นจึงจะประสานเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลก รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก กล่าวคือให้เริ่มต้นจากการพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันเอง และรวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีพลัง จากนั้นต้องเติมองค์ความรู้ให้กับประชาชนในการสร้างการรับรู้ และเข้าใจถึงปัญหาที่ผ่านมา เข้าใจถึงแนวทางการพัฒนาในวันข้างหน้า และมีการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก ทั้งในการประชุม G77 G20 และ ACD โดยนานาประเทศต่างเห็นพ้องกันว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงถือเป็นแนวทางหนึ่ง ที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น

1. ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง เพื่อแก้ปัญหาการขาดน้ำกินและน้ำใช้ การ ขาดที่ดินทำกิน ซึ่งมีการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างง่าย เพื่อขจัดความจน สามารถใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ก่อให้เกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง บรรลุเป้าหมายการยุติความยากจน ทุกรูปแบบ ในทุกพื้นที่

2. ธนาคารอาหารเป็นกิจกรรมจากกองทุนอาหารกลางวันแบบยั่งยืน ให้เด็กนักเรียนทุกคนนำไปลงทุน เพื่อประกอบอาชีพทำการเกษตรและปศุสัตว์ขนาดเล็ก โดยโรงเรียนจะรับซื้อผลผลิต ฃกลับมาเป็นอาหารกลางวันของนักเรียน รายได้ของนักเรียนสามารถเกื้อกูลฐานะทางครอบครัวและใช้ในการศึกษาเพิ่มเติม นับว่าเป็นการเรียนรู้ในการประกอบอาชีพอย่างครบวงจรภายใต้หลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ บรรลุอีกเป้าหมายในเรื่องของการยุติความหิวโหย มีความมั่นคงทางอาหาร การยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน

3. โรงเรียนพระดาบส จัดให้มีการสอนวิชาชีพหลักสูตร 1 ปี มุ่งให้สามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง เสริมด้วยทักษะชีวิตให้สามารถดำรงตนได้อย่างเหมาะสม บนพื้นฐานแห่งความรู้ มีวินัย ขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบ บรรลุเป้าหมาย การให้การศึกษา ที่มีคุณภาพ อย่างครอบคลุม และเท่าเทียม และโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต

4.กังหันชัยพัฒนา เป็นการเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ ลดกลิ่น น้ำไม่เน่าเสีย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำได้ บรรลุเป้าหมายการจัดให้มีน้ำ ที่ถูกสุขลักษณะ และมีการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน

5. บริษัท ประชารัฐ รักสามัคคี จำกัด ดำเนินการตามรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม บนกลไกประชารัฐที่ไม่มุ่งเน้นผลกำไรจากการประกอบการ แต่ได้รับปันผลในรูปแบบการพัฒนาชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ บรรลุเป้าหมายลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ

"ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" แกนหลักพัฒนาไทยสู่ยุค 4.0

“ดังนั้น คนไทย 4.0 ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะเป็นไปในลักษณะเมื่อไม่พอก็ต้องเติม เมื่อพอก็ต้องรู้จักหยุด เมื่อเกินก็ต้องรู้จักแบ่งปัน จึงจะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังดำเนินไปได้ ดำเนินไปในแบบเคียงบ่าเคียงไหล่เติบโตไปด้วยกัน” นายกฯ  อธิบาย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าต่อถึงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ว่า เป็นกลไกสำคัญปฏิรูปประเทศที่มีเป้าหมายชัดเจน คือ การนำพาประเทศพ้น "กับดัก 3 เรื่อง" ได้แก่ กับดักรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความไม่สมดุล ผ่านโมเดลขับเคลื่อนสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วย “3เครื่องยนต์ใหม่” คือ สร้างความมั่นคง โดยการระเบิดจากข้างใน สร้างความมั่งคั่ง โดยการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างความยั่งยืนโดยการพัฒนาที่รักษาสมดุลทั้งด้านมิติเศรษฐกิจและสังคม โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

น้อมนำ "หลักทรงงานตามขั้นตอน-ปชช.คือศูนย์กลางพัฒนา" บริหารชาติให้ยั่งยืน 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะ 2 ปี ของการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลได้ประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยยึดถือ “หลักการทรงงานทำตามขั้นตอน” ดังพระบรมราโชวาทเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2517 โดยเริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นของประชาชนที่สุดก่อน ได้แก่ การสาธารณสุข การดูแลตนเองขั้นต้น เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง สามารถทำประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อไปได้ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

จากนั้น จะเป็นเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งจำเป็นในการประกอบอาชีพ อาทิ ถนน แหล่งน้ำ เพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค ที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชน โดยต้องไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการให้ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีที่เรียบง่าย เน้นการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้และเกิด ประโยชน์สูงสุด

“รัฐบาลนี้ได้พยายามมาโดยตลอด ที่จะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เป็นการเติบโตที่กระจายสู่ทุกภาคส่วน ทุกภูมิภาคของประเทศ ไม่ให้กระจุกตัวเฉพาะในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งหรือภาคใดภาคหนึ่งหรือกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง เพื่อลดความขัดแย้ง และไม่ใช่การเติบโตแต่เพียงตัวเลข GDP แต่เพราะประเทศไทยมีรายได้ไม่พอกับการลงทุนใหญ่มากนัก เก็บภาษียังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงต้องมีการกู้เงินบางส่วน มีการร่วมทุนกับเอกชนบางส่วน ซึ่งจำนวนหนี้สาธารณะในวันนี้ล้วนเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในอนาคตให้กับประเทศ และรัฐบาลสามารถควบคุมได้ให้อยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 60 ของ GDP” นายกฯ แสดงทัศนะ และกล่าวต่ออีกว่า หากคนไทยทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน ไม่ขัดแย้ง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ก็เชื่อได้ว่าเศรษฐกิจไทยในวันข้างหน้า จะมีการเจริญเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง อย่างแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง