หลังเกิดกระแสที่มีชาวนาบางส่วนพยายามขายข้าวสารถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ด้วยการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม เพื่อไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง หลังราคารับซื้อตกต่ำ ได้มีเพจเฟซบุ๊กที่ให้ความรู้เรื่องข้อกฎหมายของทนายรายหนึ่ง ให้ข้อมูลในลักษณะที่ว่าอาจผิดพระราชบัญญัติขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 เนื่องจากจะต้องมีการจดทะเบียนการขายตรงกับหน่ายงานที่เกี่ยวข้องก่อน จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารย์ถึงความถูกต้องของข้อมูล
ล่าสุด วานนี้ (30 ต.ค.2559) เพจเฟซบุ๊กของกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โพสต์ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีการขายข้าวสารผ่านเฟสบุ๊ก โดยระบุว่าพฤติกรรมการขายข้าวสารออนไลน์ในลักษณะนี้ยังไม่เข้าข่ายครบตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 เนื่องจากกฎหมายมีเจตนาที่จะกำกับดูแลส่งเสริมกับบุคคลที่ประกอบธุรกิจอย่างจริงจัง ไม่ใช่ครั้งคราว กรณีการขายข้าวสารของชาวนา ถือเป็นการหาช่องทางระบายข้าวแบบครั้งคราว ไม่ได้ถือเป็นการประกอบธุรกิจตามกฎหมาย ขณะเดียวกันแม้จะมีการโพสต์โฆษณาสินค้าในหน้าเพจ แต่การตกลงซื้อขายและรายละเอียดสินค้า ยังต้องเป็นการไปตกลงกันอีกทีระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย การซื้อขายไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีในหน้าเว็บไซต์จึงไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย
ก่อนหน้านี้นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ยังโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ยืนยันว่า การขายข้าวสารผ่านทางเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมของชาวนาไม่ผิดกฎหมาย พร้อมให้ข้อมูลว่าหากเกษตรกรสีข้าวและขายข้าวเองไม่เข้าข่ายเป็นผู้จำหน่ายอิสระ เนื่องจากไม่ใช่ตัวแทนในการขายสินค้า