เมื่อวานนี้ (3 พ.ย.2559) น.ส.ตรีดาว อภัยวงศ์ โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสอบและวางแผนฟื้นฟูต้นมะขามบริเวณรอบสนามหลวงอย่างเร่งด่วน หลังจากได้รับผลกระทบจากเศษอาหาร เศษขยะ ที่ประชาชนทิ้งไว้บริเวณโคนต้น โดยจะทำการอนุรักษ์ต้นมะขามที่ประสบปัญหา 200 ต้นก่อน จากจำนวนที่มีทั้งหมดราว 783 ต้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ต้นมะขามซึ่งมีอายุเกือบ 100 ปี ให้อยู่คู่สนามหลวง โดยจะแบ่งมาตรการในการบำรุงรักษาเป็น 3 ระยะ คือระยะแรก จะนำท่อพีวีซีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว ยาว 50 เซนติเมตร เจาะรูตลอดแนว ยาวประมาณ 5-6 แนว ฝังลงไปรอบโคนต้น จำนวนต้นละ 4-6 ท่อ เพื่อช่วยระบายน้ำส่วนเกินออกจากโคนต้นมะขาม จากนั้นจะใช้กระบอกสูบ สูบน้ำออกอีกทางหนึ่ง เพื่อช่วยให้รากต้นมะขามมีอากาศหายใจ
ส่วนระยะที่ 2 ภายหลังฤดูฝนไปแล้ว ดินจะเริ่มแห้งตัว ก็จะเอากระสอบทรายที่วางทับบนผิวดินรอบโคนต้นมะขามออก แล้วปูอิฐมวลเบาชนิด "เคิร์บบล็อก" แทนที่ เพื่อช่วยให้อากาศไหลเวียนสู่รากได้ดีขึ้น และระยะที่ 3 จะนำต้นกล้ามะขามที่เพาะจากเมล็ด อายุประมาณ 1 ปี มาทาบกับต้นมะขามเดิม แล้วปลูกลงดินบริเวณโคนต้นมะขามเดิม เพื่อช่วยให้รากของต้นใหม่พยุงต้นเดิมเอาไว้ วิธีการนี้เรียกว่า วิธีการ pop up ต้นไม้ โดยขณะนี้สำนักสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการอนุรักษ์ต้นมะขามที่ประสบปัญหาไปแล้ว 80 ต้น คาดว่าจะเร่งฟื้นฟูต้นมะขามทั้ง 200 ต้นให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์
ด้าน น.ส.ลินนา กนกนิตย์อนันต์ ผู้แทนศูนย์อาสาสมัคร Volunteers For Dad ได้รายงานในที่ประชุม กอร.รส.ว่า อาสาสมัครได้สำรวจต้นมะขามในพื้นที่ท้องสนามหลวง พบว่ามากกว่าครึ่งเริ่มมีอาการใบเหลือง และเกือบทั้งหมดพบว่าดินเริ่มมีปัญหาเน่า มีกลิ่นเหม็น เนื่องจากโดนกดทับ มีน้ำทิ้ง น้ำขัง และขยะบริเวณโคนต้น ทำให้การดูดสารอาหารของต้นไม้ทำได้ไม่ดีนัก