ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ไม้จันทน์" ในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย

ไลฟ์สไตล์
15 พ.ย. 59
11:25
9,196
Logo Thai PBS
"ไม้จันทน์" ในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย
ธรรมเนียมการใช้ไม้จันทน์มาทำเครื่องเรือน เครื่องหอม ไปจนถึงเป็นเชื้อเพลิงในพิธีศพมีมาแต่โบราณ ด้วยคุณสมบัติสำคัญทั้งมีสีเหลืองสวยและกลิ่นหอม ไม้มงคลนี้จึงมีอยู่ทั้งในพระราชพิธีและวิถีชาวบ้าน

วันนี้ (15 พ.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภูมิปัญญาการนำไม้จันทน์มาดับกลิ่นเมื่อมีพิธีศพสืบทอดมาแต่โบราณ ทำให้ จารี คงเจริญสุข และชาวบ้านกบเจา อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ทันเห็นดอกไม้จันทน์ทำจากไม้ไสเป็นแผ่นบางวางไปกับธูป 3 ดอก และท่อนฟืน เมื่อเกือบ 70 ปีก่อน

การทำศพแบบโบราณอยู่ในความทรงจำ แต่หลังที่ไม้จันทน์หายากและเป็นหนึ่งในไม้หวงห้าม ดอกไม้จันทน์จากงานฝีมือชาวบ้านรุ่นต่อมา จึงเหลือเพียงส่วนที่เรียกว่าหนวดจันทน์ ทำจากเยื่อไม้หรือเยื่อกระดาษ

ไม่ว่าสีสันรูปแบบของดอกไม้จันทน์จะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ยังต้องคงไว้คือเยื่อไม้แบบที่เห็น ในอดีตใช้ไม้จันทน์ที่มีกลิ่นหอมมาทำ ซึ่งชาวบ้านรุ่นก่อนยังทันใช้แต่ปัจจุบันถือเป็นสัญลักษณ์

จารี คงเจริญสุข กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทำดอกไม้จันทน์ จ.พระนครศรีอยุธยา เล่าถึงวิธีการทำว่า แต่ก่อนนั้น เขาจะทำเป็นแผ่นบางๆ มีไม่มากมายเหมือนทุกวันนี้ เพราะจะแจกแต่ผู้หลักผู้ใหญ่ พอเห็นดอกไม้จันทน์ก็ได้กลิ่นหอมแล้ว

ส่วน เกศินี คงเจริญสุข กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทำดอกไม้จันทน์ จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ชาวบ้านเราใช้ไม้อย่างอื่นแทนมานานแล้ว แทบไม่มีกลิ่นอะไร แต่ต้องคงอันนี้ไว้เป็นสัญลักษณ์ของไม้จันทน์

การใช้ไม้จันทน์เป็นเชื้อเพลิงมีตำนานตั้งแต่ครั้งพุทธกาล คราวถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ณ เมืองกุสินารา ครั้งนั้น มัลลกษัตริย์ห่อพระสรีระด้วยผ้าใหม่ซับด้วยน้ำสำลี 500 ชิ้น เชิญขึ้นประดิษฐานบนพระจิตตกาธานเชิงตะกอนไม้หอม ถือเป็นการสักการะสูงยิ่ง

เรื่องราวของไม้จันทน์ ยังปรากฏในพงศาวดารตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงการสำเร็จโทษเจ้านายโดยใช้วิธีทุบด้วยท่อนจันทน์ เชื่อกันว่าเพื่อไม่ให้เลือดตกลงแผ่นดิน นับเป็นการให้เกียรติอย่างหนึ่ง เพราะไม้จันทน์ถือกันมาแต่โบราณว่าเป็นไม้ดีมีค่าหายาก สถานที่ฝังพระศพเจ้านายด้วยวิธีการทุบด้วยท่อนจันทน์สมัยนั้น คือวัดโคกพระยา

นอกจากเกี่ยวข้องกับความตายซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องประหาร ไม้จันทร์ยังใช้เป็นฟืนหรือเชื้อเพลิงสำหรับพระบรมศพหรือพระศพอีกด้วย

วัฒนะ บุญจับ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา วรรณกรรมและวัฒนธรรม บอกว่า ครั้งที่วิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญ วิธีการรักษาศพให้กลิ่นเบาบางลงคือการใช้ไม้จันทน์

เพราะเป็นไม้ดีมีราคา บ้านเมืองใดมีต้นจันทน์มากเท่ากับมีทรัพยากรสำคัญ

ชนชาติในเอเชียตะวันออกเชียงใต้ยังถือว่า ไม้จันทน์เป็นไม้มงคลที่มีคุณลักษณะพิเศษ ด้วยเนื้อไม้มีสีเหลืองสวยงามและมีกลิ่นหอม แม้จะแห้งก็ไม่ทิ้งกลิ่น ให้ประโยชน์หลากหลายใช้อบร่ำกายให้หอมยามมีชีวิต และเป็นฟืนเผาเมื่อวายชนม์

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง