ความคืบหน้าของการแก้ไขหนี้นอกระบบคือการให้ผู้เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ตำรวจฝ่ายปกครอง ซักซ้อมการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้เป็นไปตาม มติครม.ที่เห็นชอบก่อนหน้านี้
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า พิโกไฟแนนซ์ คือการให้เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ ขึ้นทะเบียนกับธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)เพื่อปล่อยกู้รายย่อยไม่เกิน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 36% ต่อปี เบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมาณ 100 ราย
ขณะที่ การตั้งพิโกไฟแนนซ์ จะต่างจากนาโนไฟแนนซ์ ที่เคยตั้งมาก่อนหน้านี้ นอก จากเจ้าของเงินกู้ต่างกันแล้ววัตถุประสงค์การกู้ก็ยังต่างกัน พิโกไฟแนนซ์ คือ กู้เพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป แต่นาโนไฟแนนซ์ คือกู้เพื่อลงทุนอาชีพ ซึ่งวงเงินจะสูงกว่า
ปลัดกระทรวงการคลัง บอกอีกว่า มาตรการที่เพิ่มขึ้นมาคือ กระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ลงไปตรวจสอบเจ้าหนี้นอกระบบในแต่ละพื้นที่ ที่คิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด คือการเอาผิดกับเจ้าหนี้นอกระบบ ที่ปล่อยกู้และคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15% มีโทษหนักตามกฎหมาย โดยมีโทษจำคุกถึง 2 ปี
ส่วนการช่วยลูกหนี้ออมสิน และ ธ.ก.ส. จะตั้งหน่วยงานแก้ปัญหาหนี้นอกระบบขึ้นมาดูแลเฉพาะ ให้เงินไปจ่ายหนี้นอกระบบ และโอนให้มาเป็นลูกหนี้ธนาคารแทน รวมทั้งการปล่อยกู้ฉุกเฉินให้กับผู้มีรายได้น้อย
จากข้อมูลภาครัฐอ้างอิงปี 2552-2553 ว่า มีลูกหนี้นอกระบบ 1,185,000 คนมูลหนี้ 123,240 ล้านบาท แต่ รองศาสตราจารย์สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กลับคาดว่า ข้อมูลจริงจะสูงกว่าข้อมูลรัฐอย่างน้อย 5 เท่า แต่แนวทางภาครัฐขณะนี้ มองว่ามีโอกาสล้มเหลวซ้ำเหมือนอดีต
นักวิชาการ เสนอว่า ควรนำจุดแข็งของความคุ้นเคยกัน ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ให้มารวมกลุ่มในลักษณะสหกรณ์ หรือ ตั้งธนาคารคนจน เช่นเดียวกับที่บังคลาเทศ โดยเป็นกิจการเชิงสังคมที่รัฐให้ทุนก้อนแรก และให้ระบบสังคมของชุมชน เป็นผู้ควบคุมการให้ยืม และชำระหนี้