วันนี้ (16 พ.ย.2559) ในเวทีเสวนาหัวข้อ "สิทธิเด็ก ในยุคมนุษย์กล้องครองเมือง" ประธานมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่า จากการเผยแพร่คลิปเด็ก เช่น พ่อแกล้งกินแมลงยั่วยวนให้เด็กขยะแขยงจนเด็กอาเจียน หรือคลิปที่แม่แกล้งเอาตะปูเสียบนิ้วตัวเองดึงเข้าดึงออก เพื่อพิสูจน์ว่าลูกจะเป็นห่วงตัวเองหรือไม่ รวมถึงคลิปครูให้นักเรียนกราบหน้าเสาธง ที่ส่งต่อในสื่อสังคมออนไลน์ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
นาย สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ประธานมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เปิดเผยว่าพฤติกรรมลักษณะนี้ เป็นการทารุณกรรมเด็ก ทำร้ายจิตใจเด็ก ทำให้เกิดความกลัว โดยเฉพาะการนำคลิปออกมาเผยแพร่ต่อยังเป็นการกระทำซ้ำต่อเด็ก ซึ่งอาจมีความผิดตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก ปี 2546 และกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ปี 2550
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผู้ตรวจราชการกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า พ่อแม่ทุกคนรักลูก อาจมีความรู้สึกอยากโชว์ความน่ารักของลูก แต่การถ่ายคลิปเด็กในอิริยาบถต่างๆ พร้อมกับระบุตัวตน แล้วนำมาโพสต์หรือแชร์ จนคนอื่นสามารถเข้าถึงข้อมูล เป็นการทำร้ายเด็ก เกิดความเสี่ยงในการใช้ชีวิต ทำให้เด็กไม่ได้รับความปลอดภัย
ขณะเดียวกันเด็กอาจไม่ได้รู้สึกดีกับภาพที่ถูกโพสต์ถูกแชร์เพราะเขาไม่มีโอกาสได้ร่วมตัดสินใจว่าจะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อโตขึ้นจะเกิดความรู้สึกไม่ดีเมื่อได้เห็นคลิปนั้น ดังนั้นทุกอย่างจึงควรมีขอบเขต พ่อแม่ผู้ปกครองควรระมัดระวังในการใช้เทคโนโลยี หากมีคนมาถ่ายภาพคลิปลูกไปเผยแพร่โดยที่ไม่ได้รับอนุญาต มีสิทธิเอาผิดตามกฎหมายได้