ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (16 พ.ย.2559) คณะกรรมการอำนวยการเพื่อการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี จำนวน 7 คนคือ นายประกอบ วิโรจนกูฎ นางสุนี ไชยรส นายเดชรัต สุขกำเนิด นายชวลิต วิทยานนท์ นายอานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์ นายชโลทร แก่นสันติสุขมงคล และนายพรชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ได้ออกแถลงการณ์ถึงเหตุผลในลาออกจากคณะกรรมการฯ
แถลงการณ์ฉบับนี้ ระบุว่า หลังจากรัฐบาลชุดนี้ได้แต่งตั้งในช่วงปี 2558 มีองค์ประกอบเป็นนักวิชาการจากหลากหลายสาขา เพื่อใช้องค์ความรู้อย่างเป็นกลางในการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลทั้งระยะสั้นและระยะยาว ได้ดำเนินการศึกษาข้อเท็จจริงต่างๆ และนำมาซึ่งข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการการเปิดปิดประตูน้ำในแต่ละปี และหากมีสถานการณ์เฉพาะหน้าที่จำเป็นต้องบริหารจัดการฯที่แตกต่างไปจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็ให้ขออนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ
ซึ่งหลักเกณฑ์ ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และใช้ในการบริหารจัดการเขื่อนปากมูลมาตั้งแต่ปี 2558 ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว คณะกรรมการฯได้แต่งตั้งอนุกรรมการฯในการศึกษาผลกระทบต่างๆและการเยียวยา รวมทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ในทางวิศวกรรมที่จะสร้างคลองเทียมเพื่อให้ปลาขึ้นมาวางไข่ได้ โดยไม่ต้องเปิดประตูน้ำ ซึ่งกระบวนการภายใต้คณะกรรมการฯ ที่ผ่านมายืนอยู่บนฐานของการรับฟังความคิดเห็นที่รอบด้าน เพื่อนำไปสู่ตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วม บนฐานของข้อมูล ข้อเท็จจริงทางวิชาการที่มีเหตุผล จนทำให้หลายภาคส่วนเริ่มมีความหวังว่าอาจเป็นโอกาสที่จะปูทางไปสู่ความสำเร็จในการจัดการปัญหาความขัดแย้งที่มีมานาน
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่กระบวนการแก้ไขปัญหาซึ่งกำลังดำเนินไปด้วยดี และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย คณะอนุกรรมการบริหารจัดการเขื่อนปากมูล ซึ่งเป็นกลไกระดับจังหวัดได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการอำนวยการฯ ให้รับผิดชอบการดำเนินงานในพื้นที่ตามเกณฑ์ที่ได้มีการกำหนดไว้ ได้มีมติให้ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม และต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา การดำเนินการดังกล่าว ไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์ตามมติของคณะกรรมการอำนวยการฯ เพียงแต่ให้เหตุผลเรื่องความเหมาะสม
กลุ่มนักวิชาการ ได้พยายามทักท้วง และขอให้ประธานคณะกรรมการอำนวยการ เปิดประชุมวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาปัญหาที่ เพราะเห็นว่าการตัดสินใจไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังไม่มีการชี้แจงเหตุผลที่รับฟังได้ ย่อมเป็นการทำลายบรรทัดฐานที่ดีที่ได้ร่วมกันสร้างขึ้นมา รวมทั้งเป็นการทำลายความไว้วางใจ และ ความน่าเชื่อถือของตัวคณะกรรมชุดนี้