นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนของมาตรการทางภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้นักลงทุนเทขายหุ้นอย่างต่อเนื่อง จนในเวลาเพียงแค่ 1 เดือนเศษๆ มูลค่าหุ้นของสหรัฐฯ ก็หายไปแล้วเกือบ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ทรัมป์ก็ยังคงเชื่อว่า กำแพงภาษีคือยาวิเศษที่จะรักษาได้ทุกโรค
อ่านข่าว : สะเทือนทั้งโลก "สหรัฐฯ" เคาะตัวเลขภาษีตอบโต้คู่ค้า ไทยโดน 36%

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
จับตาโลกรับมือสงครามการค้า 2.0
ทรัมป์ใช้มาตรการกำแพงภาษีเป็นเครื่องมือดำเนินนโยบายต่างประเทศมาตั้งแต่ตอนนั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรก เมื่อปี 2017 ถึงต้นปี 2021 และในสมัยที่ 2 การเก็บภาษีนำเข้าได้กลายมาเป็นวิธีในการบรรลุเป้าหมาย 4 ข้อ นั่นคือ การจัดการกับปัญหายาเฟนทานิลและผู้อพยพผิดกฎหมายที่ไหลทะลักเข้ามาในสหรัฐฯ กระตุ้นอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ เพิ่มรายได้ให้ภาครัฐและลดความได้เปรียบของประเทศคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู ผ่านการกำจัดข้อจำกัดทางการค้าต่างๆ
เมื่อ 2 วันก่อน สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เพิ่งเปิดเผยรายงานการประเมินการค้าแห่งชาติ ความยาว 397 หน้า ซึ่งระบุข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ของมาตรการกีดกันทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นในเชิงนโยบาย ระเบียบข้อบังคับ หรือมาตรการด้านภาษี ที่มากกว่า 50 ประเทศและองค์การทั่วโลกทำกับสหรัฐฯ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวยังรวมถึงไทยและอีกหลายชาติในอาเซียนด้วย
มองในมุมหนึ่ง บัญชีรายชื่อประเทศที่ใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับสหรัฐฯ ฉบับนี้ เป็นเสมือนกับบัญชีสางแค้น ซึ่งเชื่อว่า น่าจะมีน้ำหนักบนโต๊ะเจรจาการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ นับจากนี้ไปไม่มากก็น้อย
เป็นที่ทราบกันดีว่า สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับประเทศส่วนใหญ่ของโลก ซึ่งทรัมป์มองว่าจุดนี้เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม เพราะประเทศต่างๆ เล่นเกมการค้ากับสหรัฐฯ แบบไม่แฟร์ ดังนั้น ประเทศที่ยิ่งเกินดุลมากๆ ก็มักที่จะโดนเพ่งเล็งและเสี่ยงที่จะโดนตอบโต้อย่างหนักหน่วง

จีนถือเป็นประเทศคู่ค้าที่ขายของให้สหรัฐฯ มากกว่าซื้อเกือบ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว จึงไม่แปลกที่จะโดนภาษีในรอบนี้ไปแบบจุกๆ 34% ซึ่งนี่ยังไม่รวมกำแพงภาษีเดิมที่มีอยู่ 20% ขณะที่สหภาพยุโรปถูกสหรัฐฯ วิจารณ์หนักเรื่องการอุ้มสินค้าเกษตรและเก็บภาษีนำเข้าหลายอย่าง รอบนี้เลยโดนไป 20% ส่วนเม็กซิโกทั้งเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และยังเป็นทางผ่านของผู้อพยพและยาเฟนทานิลด้วย
ส่วนเวียดนามส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มากกว่านำเข้าถึง 123,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงสุดในอาเซียน และจุดนี้เองที่ทำให้ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามสูงถึง 46% ตามมาด้วยไทย ซึ่งเกินดุลกว่า 46,000 ล้านดอลลาร์ โดยภาษีไป 36% ขณะที่กัมพูชา แม้จะไม่ได้เกิดดุลการค้ากับสหรัฐฯ ก้อนใหญ่ แต่กลับโดนสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเป็น 49%

กำแพงภาษี "ทรัมป์" ความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐ
กำแพงภาษีของทรัมป์ไม่เพียงแต่สร้างความกังวลให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงทางเศรษฐกิจให้กับสหรัฐฯ ด้วย โดย Goldman Sachs บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินข้ามชาติ ประกาศปรับตัวเลขการวิเคราะห์โอกาสเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ จากเดิม 20% เพิ่มขึ้นเป็น 35% แล้ว ซึ่งเป็นการคาดการณ์ก่อนที่ทรัมป์จะออกมาประกาศเก็บภาษีนำเข้าขั้นต่ำ 10% ในสินค้าทุกชนิดจากทุกประเทศ
ข้อมูลชุดนี้สะท้อนว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงต่ำกว่าการคาดการณ์เดิม และนักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่น ขณะที่ท่าทีของทำเนียบขาว ชี้ชัดว่า รัฐบาลรู้ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ก็พร้อมที่จะทน แต่สำหรับหัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ Mizuho Securities USA กลับมองว่ากำแพงภาษีอาจไม่ใช่ปัญหาที่น่ากลัวที่สุด
ศูนย์วิจัยนโยบาย The Budget Lab ของมหาวิทยาลัย Yale ในสหรัฐฯ ประเมินผลกระทบกรณีที่ถ้าทรัมป์ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกชนิดจากทุกประเทศ 20% ตามกระแสข่าวในสื่ออเมริกันก่อนหน้านี้ ซึ่งจะเห็นว่า มาตรการดังกล่าวจะเพิ่มรายจ่ายให้กับชาวอเมริกันปีละ 3,400-4,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อครัวเรือน หรือสูงสุดตกเดือนละเกือบ 12,000 บาทเลยทีเดียว
ทรัมป์ให้คำมั่นว่า กำแพงภาษีระลอกใหม่นี้จะช่วยหยุดการขูดรีดอเมริกาและสร้างยุคทองของอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ขึ้นมาใหม่ มาตรการนี้จะกลายเป็นดาบสองคมและย้อนกลับมาบาดมือทรัมป์หรือไม่ เดี่ยวคงจะได้รู้กัน
อ่านข่าว :
"ทรัมป์" รีดภาษีใหญ่ จุดชนวนสงครามการค้าโลก?
นายกฯ ยันมีแผนรับมือสหรัฐรีดภาษี 36% ไม่ต้องห่วงเชื่อต่อรองได้