วันที่ 20 พ.ย.2559 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมอนุกรรมการมรดกทางวัฒนธรรมว่า ที่ประชุมหารือเกี่ยวกับคำชี้แจงคณะกรรมการมรดกโลก เรื่องรายงานสถานภาพการอนุรักษ์นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาของกรมศิลปากร โดยต้องรายงานต่อคณะกรรมการมรดกโลกภายในวันที่ 2 ธ.ค.นี้
คณะกรรมการมรดกโลก มีคำแนะนำให้ประเทศไทยดำเนินการในเรื่องต่างๆ เช่น จัดโครงการอบรมเพื่อปรับปรุงฝีมือ ทักษะความรู้ ความชำนาญของช่างฝีมือที่รับผิดชอบในการอนุรักษ์ เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการอนุรักษ์และฝีมือช่างแบบดั้งเดิม โดยกรมศิลปากรรายงานว่าได้จัดทำหลักสูตรอบรมร่วมกับองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ รวมทั้งจัดอบรมไปแล้ว 5 ครั้ง ให้จัดทำแผนการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ มาให้คำปรึกษา ทั้งหมด 8 ด้าน เช่น การอนุรักษ์โบราณสถาน การควบคุมสิ่งก่อสร้าง การส่งเสริมรายได้ การท่องเที่ยว ซึ่งกรมศิลปากรพร้อมรายงานแผนการอนุรักษ์ต่อยูเนสโก การจัดสัมมนาการอนุรักษ์ระดับนานาชาติ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์จากประเทศต่างๆ มาเข้าร่วม ซึ่งกรมศิลปากรจัดสัมมนาไปแล้ว 3 ครั้ง การควบคุมสิ่งก่อสร้างใหม่ในพื้นที่และบริเวณโดยรอบนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งแบ่งเป็นโซนตรงกลางที่มีการขึ้นทะเบียนมรดกโลก โซนริมแม่น้ำควบคุมความสูงอาคารอยู่ในระยะ 8 เมตร 12 เมตร และ 15 เมตร ตามลำดับ และการฟื้นฟูและบูรณะโบราณสถานในนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาภายหลังน้ำท่วม โดยยูเนสโกได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาดูการบูรณะและให้คำแนะนำ ซึ่งกรมศิลปากรได้ปรับปรุงการบูรณะเพิ่มเติมครบถ้วนตามคำแนะนำ พร้อมกับทำภาพเปรียบเทียบการบูรณะที่ทำไว้เดิมกับการบูรณะเพิ่มเติมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากยูเนสโก
นายวีระ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเสนอพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกในบัญชีเบื้องต้น (Tentative List) ซึ่งพระธาตุพนมวรมหาวิหารเข้าหลักเกณฑ์ของยูเนสโก เนื่องจากเป็นศาสนาสถานที่มีคุณค่าโดดเด่น เป็นสากล มีคุณสมบัติในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกชองยูเนสโกใน 3 เกณฑ์ ได้แก่ เป็นตัวแทนที่แสดงถึงผลงานชิ้นเอกที่ทำขึ้นด้วยอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อในด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องหรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ และมีความคิด หรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือบุคคลที่มีความสำคัญหรือความโดดเด่นในประวัติศาสตร์ ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้กรมศิลปากรไปรวบรวมข้อมูล เอกสารและหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
ทั้งนี้ กรมศิลปากรจะนำทั้ง 2 เรื่อง เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ ในวันที่ 23 พ.ย.นี้ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในส่วนของการเสนอพระธาตุพนมวรมหาวิหารเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกในบัญชีเบื้องต้นนั้นจะมีการเสนอต่อยูเนสโกภายในวันที่ 1 ก.พ.2560