ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครม.เตรียมพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 69 จังหวัดทั่วประเทศ

เศรษฐกิจ
22 พ.ย. 59
07:16
612
Logo Thai PBS
ครม.เตรียมพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 69 จังหวัดทั่วประเทศ
มีรายงานว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเตรียมพิจารณาวาระการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใน 69 จังหวัดทั่วประเทศ โดยจะมี 8 จังหวัดที่จะยังไม่ปรับขึ้นค่าจ้าง ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีแนวโน้มสนับสนุนให้ปรับขึ้นในรายจังหวัด ส่วนกลุ่มแรงงานบางส่วนมองว่าไม่เป็นธรรม

วันนี้ (22 พ.ย.2559) มีรายงานว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ กระทรวงแรงงานเตรียมเสนอวาระพิจารณาเรื่องการปรับขี้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 ให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบ โดยหลักการจะอิงตามมติคณะกรรมการค่าจ้างของกระทรวงแรงงาน หรือบอร์ดค่าจ้าง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ให้ปรับขึ้น 69 จังหวัด ในอัตราตั้งแต่ 5-10 บาท โดยมี 8 จังหวัด ที่ไม่มีการปรับขึ้น โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในแง่ที่ไม่ขึ้นเท่ากันทุกจังหวัด โดยมองว่าเป็นอัตราที่สอดรับกับข้อเสนอของภาคเอกชน ที่เรียกร้องมาโดยตลอดเพื่อให้สะท้อนเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดและภูมิภาค คาดว่าจะส่งผลดีต่อการกระจายการลงทุน ไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น และการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศก่อนหน้านี้ ทำให้การลงทุนในบางจังหวัดต้องปิดตัวและย้ายฐานการผลิตเข้าส่วนกลาง เพราะต้นทุนในเมืองถูกกว่าทั้งด้านการขนส่งและวัตถุดิบ

ทั้งนี้ ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับนักวิชาการบางส่วนที่มองว่าการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างดังกล่าว คณะกรรมการค่าจ้างน่าจะมีการทบทวนมาเป็นอย่างดีแล้ว เพราะใช้เวลาพิจารณามากนานกว่า 1 ปี พร้อมให้เหตุผลที่สนับสนุนการปรับขึ้นครั้งนี้ใน 2 ประเด็น ขณะที่เครือข่ายแรงงานบางส่วนระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้หลักเกณฑ์นี้ในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้แรงงานไปกระจุกอยู่ในบางพื้นที่ที่มีค่าจ้างสูง และที่สำคัญคือค่าครองชีพแต่ละจังหวัดขณะนี้ใกล้เคียงกัน จึงไม่มีเหตุผลใดที่ต้องมีค่าจ้างที่ต่างกัน

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ตลอดจนความสามารถในการรับภาระต้นทุน ที่เพิ่มขึ้นของนายจ้าง โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป โดยแบ่งจังหวัดเป็น 4 กลุ่ม คือกลุ่มที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 10 บาทต่อวันมี 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และภูเก็ต, 2.กลุ่มที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 8 บาทต่อวันรวม 13 จังหวัด คือ ขอนแก่น, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, ชลบุรี, ระยอง, สุราษฎร์ธานี, สงขลา, เชียงใหม่, สระบุรี, ฉะเชิงเทรา, กระบี่, พังงา และพระนครศรีอยุธยา

3.กลุ่มที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5 บาทต่อวัน รวม 49 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, น่าน, ตาก, กาญจนบุรี, ราชบุรี, สุพรรณบุรี, เพชรบุรี, พัทลุง, สตูล, กำแพงเพชร, พิจิตร, แพร่, เพชรบูรณ์, อุทัยธานี, สกลนคร, กาฬสินธุ์, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, บุรีรัมย์, สุรินทร์, อำนาจเจริญ, ชัยนาท, ลพบุรี, นครนายก, สระแก้ว, ประจวบคีรีขันธ์, สมุทรสงคราม, จันทบุรี, ตราด, ลำพูน, พะเยา, สุโขทัย, อุตรดิตถ์, บึงกาฬ, นครพนม, อุบลราชธานี, อ่างทอง, เลย, หนองบัวลำภู, มุกดาหาร, ยโสธร, เชียงราย, พิษณุโลก, อุดรธานี, ชัยภูมิ, ศรีสะเกษ, นครสวรรค์ และหนองคาย และ 4. กลุ่มจังหวัดที่คงค่าแรงขั้นต่ำไว้ระดับเดิมโดยไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างรวม 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร, นครศรีธรรมราช, ระนอง, ตรัง, นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา และสิงห์บุรี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง