รถเมล์เอ็นจีวีของบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ในฐานะผู้ชนะประมูลโครงการ ที่กำลังทยอยเดินทางเข้ามา รวมกับ 2 ล็อตแรกทั้งหมด อาจต้องถูกตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าแท้จริง และอายัดห้ามนำออกจากท่าเรือแหลมฉบังอย่างไม่มีกำหนดชัดเจน
นายเค่อ นัว หลิน ประธานบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ยืนยันว่า เอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจากมาเลเซียเป็นของจริง เพราะเคยใช้แบบเดียวกันนี้นำเข้ารถรุ่นเดียวกันนี้มาแล้ว รวมถึงขั้นตอนต่างๆ ทำอย่างถูกต้อง จึงไม่วางหลักประกันการเงินกับกรมศุลกากร เพราะลงทุนกับโครงการนี้ไปมาก และยังไม่ได้รับเงินจัดซื้อรถจากกระทรวงการคลัง หากบริษัท ซูเปอร์ซาร่า ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการนำเข้ามีความผิดก็ให้รัฐไปหักเงินจากเงินจัดซื้อที่ต้องจ่ายให้บริษัท 3,000 ล้านบาทแทน
ด้านนายชัยยุทธ คำพูน รองอธิบดีและโฆษกกรมศุลกากร ยืนยันว่าไม่รับพิจารณาข้อเรียกร้องของเอกชนที่ให้หักเงินค่าภาษีอากรนำเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าปรับ จากเงินจัดซื้อรถที่กรมบัญชีกลางต้องจ่ายให้บริษัท แต่จะยอมปล่อยรถออกไปก็ต่อเมื่อมีแบงก์การันตีมาวางค้ำประกันเท่านั้น ขณะเดียวกันเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดที่บริษัท ซูเปอร์ซาร่า อ้าง จะเป็นของจริงหรือปลอม ไม่สำคัญเท่าการพิสูจน์ว่าที่ไปที่มาแท้จริงของรถเป็นอย่างไร เพราะรถเมล์ยี่ห้อเดียวกันและวิ่งให้บริการในปัจจุบันก็มีหลักฐานว่านำเข้าจากประเทศจีน และพร้อมให้เอกชนฟ้องร้องหากเห็นว่ากรมฯ ดำเนินการไม่ถูกต้อง
รายงานจากกรมศุลการกร ระบุว่าบริษัท ซูเปอร์ซาร่า เป็นบริษัทนำเข้าสินค้าน้องใหม่ โดยเพิ่งนำเข้าสินค้าเพียง 2 ครั้ง และทั้งสองครั้ง คือ นำเข้ารถเมล์เอ็นจีวีของบริษัท เบสท์ริน แม้มีข้อพิรุธเกี่ยวกับการพยายามเลี่ยงภาษีอากรนำเข้า แต่ไม่สามารถเรียกค่าปรับจากบริษัทเบสท์รินได้ เพราะกฎหมายศุลากรให้อำนาจเอาผิดได้เพียงบริษัท ซูเปอร์ซาร่า ในฐานะผู้นำเข้าเท่านั้น
กรมศุลกากรตรวจสอบพบว่า การนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวีไม่ตรงกับสนธิสัญญาเขตการค้าเสรีกลุ่มประเทศอาเซียนหรือ "ฟอร์มดี" ซึ่งเป็นการได้ประโยชน์ตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้า ที่ต้องมีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบการผลิตของประเทศสมาชิกอาเซียน อย่างน้อย 40% จึงจะได้สิทธิ์ไม่ต้องภาษีนำเข้า แต่ครั้งนี้เป็นการนำเข้ารถสำเร็จรูปจากจีนผ่านมาเลเซีย และเข้าสู่ไทย จึงถูกสงสัยว่าส่อไปในทางเลี่ยงภาษี
ขณะที่การนำเข้าแบ่งออกเป็น 2 ครั้ง รอบแรกนำเข้า 1 คัน สำแดงถิ่นกำเนิดจากมาเลเซีย เพื่อยกเว้นภาษีตามข้อตกลงฟอร์มดี แต่การตรวจสอบของศุลกากร พบว่าหมายเลขตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวออกจากจีน สำแดงเป็นรถเอ็นจีวีสำเร็จรูป ยี่ห้อและโมเดล ตรงกันชัดเจน
และการนำเข้าครั้งที่ 2 จำนวน 99 คัน ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน กรมศุลกากรได้ประสานไปยังศุลกากรมาเลเซีย ทั้งการผลิตและออกฟอร์มดี หากตรวจสอบพบว่านำเข้าไม่ถูกต้องจริง บริษัทจะมีความผิดในการเลี่ยงภาษีอากร และต้องจ่ายภาษีนำเข้า 40% ของมูลค่ารถเมล์เอ็นจีวีหรือ 1,200,000 ต่อคัน รวมค่าปรับ 4 เท่าของมูลค่าภาษี เกินราคารถที่ประมูลมาได้ บริษัทจึงต้องแสดงความบริสุทธิ์ให้ได้ว่าดำเนินการมาอย่างถูกต้อง
หากภายหลังพบว่าบริษัท เบสท์ริน หลีกเลี่ยงภาษีจริง นอกจากการปรับเป็นเงินแล้วจะมีมาตรการอะไรมาป้องกันให้มีความรัดกุมมากขึ้นหรือไม่นั้น ถ้าหากบริษัทผิดจริง นอกจากจะต้องเสียค่าปรับและค่าความเสียต่างๆ ก็จะถูกขึ้นบัญชีดำ ไม่สามารถค้าขายกับรัฐได้ แต่ที่ผ่านมามีกรณีปิดบริษัทแล้วเปิดใหม่ กรณีนี้กำลังจะมีกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งจะขยายขอบเขตดูถึงตัวผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ คาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยช่วงสิ้นปีนี้