ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สั่งช่วย "สวนส้มโอทับทิมสยาม" 2,200 ไร่พ้นจมน้ำท่วม

Logo Thai PBS
สั่งช่วย "สวนส้มโอทับทิมสยาม" 2,200 ไร่พ้นจมน้ำท่วม
ชาวสวนส้มโอทับทิมสยาม เร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต หลังจมจากน้ำท่วมนานหลายวัน พล.อ.ฉัตรชัย จี้กรมชลประทาน ทำคันกั้นน้ำพร้อมสูบน้ำออก รักษาส้มโอหนึ่งเดียวของประเทศให้รอด ชี้นครศรีธรรมราช พื้นที่เกษตรเสียหาย 3 แสนไร่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (9 ธ.ค.2559) สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดภาคใต้ครั้งนี้ ทำให้พื้นที่เกษตรของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับผลกระทบกว่า 1 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เสียหายแล้วกว่า 3 แสนไร่ โดยเฉพาะส้มโอทับทิมสยาม พืชเศรษฐกิจสำคัญของลุ่มน้ำปากพนัง ที่จำหน่ายราคาลูกละตั้งแต่ 200 ถึง เกือบ 500 บาท ได้รับความเสียหายอย่างมาก 

ลุงเฉลิม วรรณงาม ชาวสวนส้มโอพื้นที่ ต.เกาะทวด อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เร่งตัดผลส้มโอทับทิมสยามทิ้ง เพื่อที่จะรักษาลำต้นเอาไว้ แม้ว่าในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้วก็ตาม

ลุงเฉลิม ปลูกส้มโอทับทิมสยามในเนื้อที่ เกือบ 10 ไร่มาแล้ว 4 ปี ใช้เงินลงทุนไปกว่า 3 แสนบาท และกำลังเริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ โดยมีราคาขั้นต่ำตั้งแต่ 250 บาทไปจนถึงเกือบ 500 บาทต่อลูก ภาวะน้ำท่วมหนักจึงทำให้สูญเสียรายได้ไปนับแสนบาท

ส้มโอทับทิมสยามถือเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของอำเภอปากพนัง ซึ่งแม้จะมีราคาค่อนข้างสูง แต่การดูแลเอาใจใส่ก็ต้องสูงตามไปด้วย และที่สำคัญทนทานต่อภาวะน้ำท่วมได้ไม่นาน เมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น

โดยวานนี้ (8 ธ.ค.) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังได้พบปะเกษตรกรปลูกส้มโอทับทิมสยาม ซึ่งมีการปลูกแห่งเดียวในประเทศไทย เนื้อที่รวม 2,200 ไร่ ซึ่งได้รับผล

กระทบจากน้ำท่วมด้วย จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยกั้นคั้นน้ำรอบพื้นที่ 2,200 ไร่ พร้อมระดมเครื่องสูบน้ำ และ เครื่องผลักดันน้ำ ให้เสร็จภายใน 7 วัน เพื่อรักษาต้นส้มไว้ ซึ่งหากปล่อยนานกว่า 15 วัน อาจจะทำให้ต้นส้มเสียหายได้


ส้มโอทับทิมสยามเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพื้นที่การเกษตรนับล้านไร่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งรวมถึง นาข้าว สวนปาล์ม สวนมะพร้าวและบ่อปลาอีกจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในครั้งนี้ ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่รอบลุ่มน้ำปากพนังหลายอำเภอซึ่งน้ำยังท่วมสูง เพื่อพยายามรักษาพื้นที่การเกษตรเอาไว้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง