ปราชญ์อีสานเสนอคุม
คนอีสานที่ใกล้ชิดกับประเพณีบุญบั้งไฟให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ภายหลังจากที่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ประเมินว่าหากปล่อยให้มีการจุดบั้งไฟในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมถึงภาคอื่นๆ โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย อาจทำให้ประเทศไทยไม่ผ่านการประเมินมาตรฐานด้านความปลอดภัยจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) หรือ ICAO ในปี 2559 ตามที่ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" นำเสนอผ่านรายงานพิเศษเรื่อง "วิทยุการบินหวั่น 'บั้งไฟ' ทำไทยไม่ผ่านประเมินความปลอดภัย ICAO" ไปก่อนหน้านี้ (http://news.thaipbs.or.th/node/294421)
ปราชญ์ชาวบ้านที่เชี่ยวชาญเรื่องบั้งไฟมากว่า 40 ปี ใน จ.ยโสธร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองระดับตำบลใน จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการขออนุญาตจุดบั้งไฟมากเป็นอับดับ 2 ในปี 2558 สะท้อนความรู้สึกว่า คนท้องถิ่นมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัยต่อการจุดบั้งไฟเช่นกัน และได้ผลักดันมาตรการระดับท้องถิ่นเพื่อจัดการกับเรื่องดังกล่าว
นายเหลง อินทร์พิมพ์ อดีตกำนัน ต.ฟ้าห่วน อ.ค้อวัง จ.ยโสธร และยังเป็นปราชญ์ชาวบ้านผู้เชี่ยวชาญการทำบั้งไฟมากว่า 30-40 ปี กล่าวว่า งานบุญบั้งไฟเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อบูชาพระยาแถนให้ฝนตกตามฤดูกาล เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประเพณีนี้มีความสำคัญและเป็นเหมือนงานรวมญาติของคนอีสาน ดังนั้จึงไม่เห็นด้วยหากจะมีการงดจัดงานประเพณีเก่าแก่นี้
นายเหลงตั้งข้อสังเกตว่า ความเจริญทำให้กระบวนการประดิษฐ์บั้งไฟของคนอีสานเปลี่ยนไปจากเดิม ที่ทำบั้งไฟจากเลาไม้หรือกระบอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 3.5 นิ้ว และใช้เชือกหวายหรือตอกไม้ไผ่ขันชะเนาะ ก่อนบรรจุดินปืนตามสูตรลับของแต่ละบ้าน เมื่อจุดแล้วบั้งไฟจะอยู่ในอากาศนานประมาณ 50 วินาที แต่ปัจจุบันเน้นใช้ท่อขนาดพลาสติกหรือท่อเหล็กใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 4-8 นิ้ว บรรจุดินปืนประสิทธิภาพสูง จุดแล้วบั้งไฟลอยอยู่บนฟ้านานถึง 400 วินาที หรือ 6 นาทีกว่าๆ และลอยขึ้นไปได้ไกลถึง 3-4 กิโลเมตร
นายเหลงให้ข้อมูลว่า บั้งไฟขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 5 นิ้ว เป็นขนาดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด
“เงินรางวัลหลักหมื่นบาทจากจากหมู่บ้านหรือแม้แต่การจัดงานบั้งไฟโดยเก็บค่าเข้าชม ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้งานบุญบั้งไฟในภาคอีสานเปลี่ยนไป จากการจุดขอฝนตามประเพณีที่เน้นความสนุกสนาน กลายเป็นทำเพื่อการแข่งขันว่าบั้งไฟของใครจะสูงกว่ากัน ตามมาด้วยการพนันขันต่อ ที่สำคัญคือเป็นการจัดงานด้วยความประมาทไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัย ปล่อยให้พ่อค้าแม่ค้าและผู้ชมเข้าไปใกล้ฐานจุดบั้งไฟ ซึ่งอันตรายมาก” ปราชญ์ชาวบ้านด้านการทำบั้งไฟให้ข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมกล่าวต่อด้วยว่า ถ้าเป็นไปได้ขอเสนอให้ทางการออกข้อบังคับหรือออกเป็นกฎหมายให้แต่ละหมู่บ้านจุดบั้งไฟได้ 1 ครั้ง ต่อ 1 ปี และให้เป็นไปในลักษณะวิถีดั้งเดิม เพื่อป้องกันอันตรายต่อประชาชนรวมทั้งระบบการบินที่ทุกฝ่ายกำลังกังวลอยู่ในขณะนี้
การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ประเพณีดีงามกลายเป็นจำเลยสังคม รวมถึงการควบคุมอย่างเข้มงวดจากภาครัฐทำให้ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โนนธาตุ อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น ที่คำนึงเรื่องความปลอดภัยของลูกบ้านเป็นทุนยอมตัดงบประมาณที่ใช้งานบุญบั้งไฟของตำบลมาได้ 2 ปีแล้วนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา
นายสมชาย อุทัยประดิษฐ์ ปลัด อบต.โนนธาตุ ชี้แจงว่า งานบุญบั้งไฟของ ต.โนนธาตุ เดิมไม่ได้จัดใหญ่โตมากนัก และให้ทุกหมู่บ้านรวมตัวไปจัดที่วัดปีละครั้ง แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เห็นว่าเริ่มมีเรื่องการพนันเข้ามาเกี่ยวข้องอีกทั้งภาครัฐและฝ่ายความมั่นคงเข้มงวดกับการจุดบั้งไฟในงานบุญมากขึ้น จึงตัดสินใจตัดงบประมาณที่ใช้ในการจัดงานบุญบั้งไฟของตำบลและงดจัดงานไปพร้อมกัน แต่หากบ้านใดต้องการจุดบั้งไฟก็อนุญาตให้ทำได้ แต่ต้องขอตามระเบียบขั้นตอน
“เดิมการจุดบั้งไฟของ ต.โนนธาตุเป็นการจุดตามประเพณีแค่ 1-2 บั้ง เพื่อเสี่ยงทายว่าฝนจะตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่ และบั้งไฟก็มีขนาดเล็กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 นิ้ว แต่ช่วงหลังได้พัฒนาขนาดตามพื้นที่อื่นๆ เมื่อเทียบกับความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ และต.โนนธาตุยังเป็นพื้นที่แห้งแล้ง หากบั้งไฟตกใส่บ้านคนหรือทุ่งหญ้าซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ คิดว่าได้ไม่คุ้มเสีย อบต.จึงยกเลิกการจัดงาน” ปลัด อบต.โนนธาตุกล่าว
ขณะที่ นางสมฤดี ชาญชัย ผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคอีสาน โดยชูประเพณีงานบุญบั้งไฟเป็นหนึ่งเทศกาลสำคัญให้คนเดินทางเข้ามาชม แสดงทัศนะว่า ความปลอดภัยของการจุดบั้งไฟเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องจัดการ แต่งานประเพณีของคนอีสานนี้มีความเข้มแข็งและสร้างคุณประโยชน์หลายด้านให้สังคมและประเทศ ซึ่งการให้งดวิถีชุมชนเลยนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้
“สำหรับการประชาสัมพันธ์ให้คนมาเที่ยวงานบุญบั้งไฟของ ททท. ไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้มีการจุดบั้งไฟเพิ่มขึ้น เพราะเราเน้นด้านศิลปวัฒนธรรม ขบวนแห่ ขบวนฟ้อนรำ หรือแม้แต่การเรียนรู้การทำบั้งไฟแบบโบราณและสมัยปัจจุบัน ที่ ต.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด และเชื่อว่างานประเพณีที่ชาวบ้านอีสานมาร่วมด้วยช่วยกันทำ โดยเฉพาะใน จ.ยโสธรที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ความใกล้ชิดของกลุ่มชาวบ้านจะสร้างวิถีชุมชนเข้มแข็ง กลายเป็นภูมิคุ้มกันให้สถาบันครอบครัว และยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย” ผอ.ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ททท.กล่าว
สิรินภา อิ่มศิริ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน
ขอบคุณภาพ : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยโสธร
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- ICAO
- Thai PBS
- thaipbs
- กำนัน
- ขอนแก่น
- คุมบั้งไฟไฮเทค
- ต.ฟ้าห่วน
- ต.โนนธาตุ
- ททท.
- ทำบั้งไฟ
- บั้งไฟ
- บั้งไฟกับความปลอดภัยด้านการบิน
- บั้งไฟสวยงาม
- บั้งไฟโบราณ
- ปราชญชาวบ้าน
- ผอ.ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ททท.
- พนันบั้งไฟ
- ยโสธร
- วิทยุการบินแห่งประเทศไทย
- สถิติบั้งไฟ
- สมชาย อุทัยประดิษฐ์
- สมฤดี ชาญชัย
- สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยโสธร
- องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
- อบต.โนนธาตุ
- อันตรายจากบั้งไฟ
- อีสาน
- เหลง อินทร์พิมพ์
- ไทยพีบีเอส