วันนี้ (15 ธ.ค.2559) กลุ่มเครือข่ายพลเมืองเน็ตร่วมกับแอมเนสตี้ เข้ายื่นหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชนกว่า 3 แสนรายชื่อ แสดงการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในหลายมาตรา เพราะเชื่อว่าจะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน
น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหารเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ จะทำให้ประชาชน นักสิทธิมนุษยชน หรือสื่อมวลชนที่ต้องการตรวจสอบรัฐได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะจากมาตรา 14 (1) และ (2) ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟ้องหมิ่นประมาท
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำให้ทุกฝ่ายทำความเข้าใจกับข้อบัญญัติของร่างกฎหมาย พร้อมยืนยันในเจตนาของรัฐบาลที่จะบังคับใช้กฎหมายเพื่อดูแลและป้องกันการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยปฏิเสธเรื่องซิงเกิลเกตเวย์ในร่างกฎหมายฉบับนี้
ถ้าประมวลจากข้อกังวลของภาคประชาชนจะเห็นว่ากลุ่มที่คัดค้าน เชื่อว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ อาจเป็น 1 ในชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล ที่เคยมีแนวคิดเรื่องซิงเกิลเกตเวย์ และมองว่าในทางปฏิบัติจะมีผลกระทบมากกว่ากฎหมายฉบับเดิม ปี 2550
ด้าน พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายของ สนช. ยืนยันว่าไม่มีข้อบัญญัติในลักษณะซิงเกิลเกตเวย์ และทำความเข้าใจว่า ไม่ควรนำมารวมกับร่างกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งเป็นอีกฉบับของรัฐบาล
และข้อบัญญัติที่อยู่ในความกังวลอย่าง มาตรา 14 วรรค 2 ที่กำหนดเรื่องการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ที่จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคง ความปลอดภัยสาธารณะ และการบริการสาธารณะนั้น กลุ่มที่คัดค้านเชื่อว่าอาจทำให้การโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็น หรือข้อมูลการกระทำผิดของบางหน่วยงานจะทำไม่ได้ เพราะจะถูกตีความว่าเข้าข่ายกระทบความมั่นคง พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ยืนยันว่าข้อบัญญัตินั้น เขียนไว้ชัดเจนว่าต้องเป็นเท็จ โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง
หรือมาตรา 20/1 กรณีการระงับยับยั้งข้อมูลที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งเป็นการเพิ่มฐานความผิดใหม่ และแม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่กลับเปิดโอกาสให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาเรื่อง แต่กลุ่มพลเมืองเน็ตตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็น กบว.ออนไลน์ ที่จะพิจารณาปิดกั้นหรือบล็อกเว็บไซต์ได้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ชี้ว่าการสั่งปิดเว็บไซต์เป็นดุลพินิจของศาล