ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผบช.น.รับเงินเดือน "ไทยเบฟฯ": จริยธรรม-ความเหมาะสม-ผลประโยชน์ทับซ้อน

สังคม
15 ธ.ค. 59
20:37
1,821
Logo Thai PBS
ผบช.น.รับเงินเดือน "ไทยเบฟฯ": จริยธรรม-ความเหมาะสม-ผลประโยชน์ทับซ้อน
การที่ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นที่ปรึกษาและได้เงินเดือนจากบริษัทเอกชน กลายเป็นประเด็นทั้งในข้อกฎหมายและความเหมาะสม แม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะยืนยันว่าการกระทำเช่นนี้ไม่ผิด แต่ภาคภาคประชาสังคมยังเชื่อว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

นายศรีสุวรรณ จรรยา สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบจริยธรรม พล.ต.ท.ศานิตย์ ในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2559 ซึ่งนายรักษเกชา แฉฉ่าย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินระบุว่า ก่อนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องให้ผู้บังคับบัญชาของ พล.ต.ท.ศานิตย์ พิจารณาตามกฎหมายก่อน

การดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาและรับเงินเดือนจากบริษัทเอกชนของ พล.ต.ท.ศานิตย์ ถูกเปิดเผยขึ้นหลังจากที่เขาแสดงรายการทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จากการเข้ารับตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งปรากฏว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ มีรายได้ส่วนหนึ่งจากการเป็นที่ปรึกษาบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในอัตราเดือนละ 50,000บาท

เมื่อเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นขึ้น พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงตอบโต้ทันทีว่า ตามกฎหมายตำรวจแห่งชาติ มาตรา 78 อนุ 17 ไม่ได้ห้ามข้าราชการตำรวจเป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชน เพียงแต่ห้ามเป็นกรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจบริหาร กรณี พล.ต.ท.ศานิตย์ จึงไม่มีความผิด

แม้กฎหมายจะเปิดช่องให้ตำรวจเป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนได้ แต่นายศิระ เจนจาคะ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านสังคมเห็นว่า รองโฆษก ตร.นำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว โดยไม่พิจารณาหลักจริยธรรมข้าราชการ ซึ่งอยู่เหนือกฎหมาย

"ถ้าเป็นกรรมการบริษัท ไทยเบฟฯ แล้วต้องไปควบคุมบริษัทฯ ที่ถือว่าเป็นนายจ้างของตัวเอง เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ประชาชนและสังคมจะได้รับผลกระทบอย่างไร อาจมีการเอื้อกันได้ อีกประเด็นหนึ่งคือ หาก สนช.จะออกกฎหมายมาควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจจะเอาข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวเรื่องการออกกฎหมายนั้นไปบอก บ.ไทยเบฟฯ ซึ่งเป็นนายจ้าง มันผลประโยชน์ขัดกันอย่างแน่นอน" นายศิระกล่าว

ตามประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ ปี 2553 เรื่องมาตรฐานคุณธรรมและอุดมคติของตำรวจ ในข้อ 11 (4) ระบุว่า "ข้าราชการตำรวจ ต้องไม่ใช้เวลาราชการ หรือทรัพย์ของราชการ เพื่อ ธุรกิจ หรือประโยชน์ส่วนตน" และ 11 (5) ระบุว่า "ข้าราชการตำรวจ ต้องไม่ประกอบอาชีพเสริมซึ่งมีลักษณะเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน หรือขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม"

สอดคล้องกับภาคประชาสังคมที่เห็นว่า การเข้าไปเป็นที่ปรึกษาบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ พล.ต.ท.ศานิตย์ ซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเป็น สนช.ที่พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ตัวเองนั่งเป็นที่ปรึกษา อาจไม่เหมาะสมและขัดต่อหลักจริยธรรม

"ผบช.น.เป็นคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดโดยตำแหน่ง และยังเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เมื่อเข้าไปเป็นที่ปรึกษาบริษัท (ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) ผมก็สงสัยว่าประสิทธิภาพในการดำเนินคดี จับกุม ควบคุมและออกมาตรการ จะมีอยู่เต็มร้อยหรือไม่" นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรากล่าว

เครือข่ายภาคประชาสังคมยังเรียกร้องให้ พล.ต.ท.ศานิตย์ ลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสร้างบรรทัดฐาน ให้ข้าราชการตำรวจ ยึดมั่นในจริยธรรมและเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานของข้าราชการ ขณะที่นายศิระ เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งการให้มีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของข้าราชการทุกระดับ เพื่อป้องกันปัญหาผลประโยชน์ต่างตอบแทน ที่เป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง